ก.คลัง 25 ต.ค. – ชิมช้อปใช้แรงไม่หยุด ติดแฮชแท็กทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง เฟส 2 ประชาชนแห่ลงทะเบียนคึกคัก ล่าสุดครบ 1.5 ล้านคนแล้ว คลังจะเปิดให้ร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการเริ่ม 1 พ.ย.นี้
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com 2 วันแรก (24-25 ต.ค.) แบ่งเวลาออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเปิดให้มีการลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.01 น. และในช่วงเย็นอีกครั้ง เวลา 18.01 น. วันแรกมีผู้สมัครใช้สิทธิ์เต็ม 1 ล้านรายไปแล้ว สำหรับวันนี้เป็นวันที่ 2 รอบเช้าที่ผ่านมา ประชาชนลงทะเบียนเต็มแล้ว และคาดว่าช่วงเย็นจะลงทะเบียนเต็มจำนวนอย่างรวดเร็วไม่ต่างกัน โดยเฟส 2 กำหนดจำนวนผู้ลงทะเบียน 3 ล้านราย
นายชาญกฤช กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำนวนมากสอบถามเรื่องการสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ว่ามีเงื่อนไขเปลี่ยนไปอย่างไร และสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการในเฟส 2 ได้เมื่อไร หลังจากกรมบัญชีกลางปิดการรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมเฟส 1 ไปแล้วเมื่อ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงขอแจ้งผู้ประกอบการร้านค้าว่าขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบและหลักเกณฑ์การรับสมัครใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพร้อมที่จะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการอีกครั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครได้ที่กรมบัญชีกลางแต่ละจังหวัด ซึ่งจะเป็นการรับใบสมัครไว้ก่อน แล้วจะทำการบันทึกลงระบบวันที่ 1 พฤศจิกายน เชื่อว่าเฟส 2 จะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมอีกจำนวนมาก เพราะมีการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการประเภทที่พัก โรงแรม รีสอร์ท รถเช่า เรือเช่า บริษัททัวร์ ที่เป็นรูปแบบบริษัทในเครือเดียวกันแต่มีสาขาหลายจังหวัดสามารถเข้าร่วมได้ทุกจังหวัด จากเดิมกำหนดให้เลือกได้เพียงแค่จังหวัดเดียวเท่านั้น ที่สำคัญร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อยพอใจโครงการชิมช้อปใช้เฟส 1 มาก เนื่องจากสามารถเพิ่มยอดขายได้ 30-100% และไม่มีการตามเก็บภาษีเงินได้อย่างที่กังวลกัน ซึ่งจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนร้านค้าจนถึง 31 ธันวาคม
ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้โอนเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมในเฟสแรกแล้ว 9,006.1 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินจากกระเป๋าที่ 1 จำนวน 8,800 ล้านบาท และจากกระเป๋าที่ 2 จำนวน 206.1 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านชิม 1,313.4 ล้านบาท ร้านช้อป 5,007.5 ล้านบาท และร้านใช้ 124 ล้านบาท ส่วนร้านค้าทั่วไป จำนวน 2,561.1 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย