จุฬาฯ 10 ต.ค. – วงเสวนาวิชาการนิติศาสตร์ จุฬาฯเห็นพ้อง ศาลต้องมีความเป็นอิสระ ระบุไม่ควรให้อธิบดีศาลตรวจร่างคำพิพากษาหรือสำนวนคดี ชี้ควรให้ความเห็นเฉพาะข้อกฎหมาย ชี้ ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตัวปัญหา ยกกรณีผู้พิพากษา “คณากร” เป็นกรณีศึกษา
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เรื่อง “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ : สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต” โดยมี นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน นายอธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชน และ นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
นายปกป้อง กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญา ผู้พิพากษาต้องมีความเป็นกลางระหว่างคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีจะได้รับสิทธิในการสู้คดี หากกระบวนการพิสูจน์ว่าจำเลยไม่มีความผิด ศาลก็จะยกฟ้อง โดยศาลต้องมีความเป็นกลาง เป็นธรรม เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง เพื่อให้เกิดการต่อสู้อย่างเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการตีความ ความเป็นอิสระของศาล กรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กำหนดว่า ศาลต้องไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใด และหลักความเป็นอิสระของตุลาการในภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ได้กำหนด ในข้อ 6 ว่า ลำดับชั้นภายในองค์กรศาล ไม่ว่าเป็นอธิบดี หัวหน้าศาล ผู้บริหารไม่สามารถแทรกแซงการทำหน้าที่ได้ ความเป็นอิสระการทำหน้าที่วินิจฉัยต้องเป็นปราศจากการแทรกแซงอย่างแท้จริงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแทรกแซงได้
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ปัญหา ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีข้อความที่ขัดหรือไม่แย้งกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม แต่มองว่าจุดที่เป็นปัญหา คือ ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้อ 14 กำหนดว่า การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่แตกต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และแสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษานั้นด้วย
นายปกป้อง กล่าวว่า โดยเนื้อหาต้องการให้มีการส่งสำนวน ร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเป็นคนดู เพื่อรักษาคำพิพากษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หากเป็นคดีพิเศษองค์คณะต้องทำความเห็นส่งไปยังอธิบดี และทำรายงานส่งกลับไปยังอธิบดีผู้พิพากษาด้วย จุดนี้น่าจะเป็นประเด็น เพราะไม่ได้พูดเรื่องความเป็นอิสระของศาล ไม่ได้พูดว่าหากผู้พิพากษาที่ทำคดีมีความเห็นแย้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลมาก ๆ จะทำอย่างไร เหล่านี้จึงต้องตั้งคำถามว่าทำให้เกิดความกดดันหรือไม่
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ยังเสนอให้ยกเลิกการส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนคดีให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลตรวจ แต่หากไม่ยกเลิก อธิบดีผู้พิพากษาน่าจะให้คำแนะนำเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงควรให้ผู้พิพากษาผู้สืบพยานเป็นผู้ตัดสิน หากผู้บริหารจะเข้ามีส่วนตัดสินปัญหาข้อเท็จจริง ผู้บริหารศาลควรนั่งสืบพยานด้วย และระเบียบปี 62 ควรมีการยืนยันหลักความเป็นอิสระของศาลว่า การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำผู้บริหารโดยมีเหตุผล เป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันในทางกฎหมาย ไม่มีผลเสียต่อการทำงานหรืออนาคตของผู้พิพากษา
“การที่อธิบดี เข้ามามีบทบาทให้การตรวจร่างคำพิพากษา เป็นการแทรกแซงหรือไม่ ขอดู ข้อแก้ ทำให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหวาดกลัวหรือไม่ เพราะการไม่เชื่ออธิบดี ผู้พิพากษาอาจถูกลงโทษหรือไม่ นี่เป็นเป็นการปะทะกันในแนวคิดระหว่างอธิบดีและผู้พิพากษาเจ้าของคดีที่อยากมีอิสระในการทำสำนวน การวัดหรือการตัดสินจะเอาเกณฑ์ใดมาวัดว่าศาลชั้นต้นคุณภาพน้อยกว่าแนวฎีกา ซึ่งการคืนความเป็นอิสระ และต้องค่อย ๆ ปรับเพื่อความประณีประนอม หากอยากจะตรวจอธิบดีควรตรวจสอบเฉพาะข้อกฎหมาย” นายปกป้อง กล่าว
ด้านนายเข็มทอง กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องยืนอยู่บนความเป็นอิสระ โดยเฉพาะองค์กรศาล เพราะเป็นหน่วยสุดท้ายในการตัดสินความถูกผิด ความน่าเชื่อถือต้องมีสูงกว่าองค์กรทั่วไป มีหลัก มีบรรทัดฐานที่ต้องยึดไว้ เนื้องานไม่เหมือนฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ความเป็นอิสระขององค์กรศาล ต้องรวมถึงความโปร่งใส ความมีเหตุมีผล ความเป็นอิสระไม่ใช่ว่าจะทำแบบไหนก็ได้ และเห็นว่าปัญหาความเป็นอิสระของศาลบางครั้งกลายเป็นโดดเดี่ยวแปลกแยก โดยเฉพาะตัวบุคคลถูกแยกออกไป ไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสังคม พอความเป็นอิสระผสมกับอำนาจนิยม จึงอาจละเลยการชี้แจงกับสาธารณะ เช่น กรณีของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ยิงตัวเอง เป็นกรณีศึกษาที่ดี
นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุม ก.ต.ตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงปมผู้พิพากษา ศาลยะลายิงตัวเอง แต่น่าเสียดาย ว่า การตั้งอนุกรรมการฯ น่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อให้การตรวจสอบน่าเชื่อถือ ส่วนความเป็นอิสระของศาล มองว่า ไม่ใช่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องพิจารณาตามหลักอรรถคดี ความเป็นอิสระต้องไม่หมายถึงความไม่โปร่งใส แต่ต้องตรวจสอบได้ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติถอดถอนฝ่ายตุลาการได้ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันศาลจะต้องตัดสินคดีโดยไม่ลำเอียง ปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ทั้งการแทรกแซงทางตรงและทางอ้อม ผู้พิพากษาจำนวนมากไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นอิสระ หรือเปิดโอกาสให้มีการกระทำที่ไม่เป็นอิสระ เหล่านี้ก็ต้องแก้ไข การพูดถึงปัญหาต้องพูดถึงหลักการที่ถูกต้องในการเป็นอิสระของตุลาการ
นายสมชาย กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต้องแก้ทั้งระบบ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนคดีให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลตรวจ เพราะอธิบดีผู้พิพากษาไม่ได้นั่งฟังการพิจารณาคดี คงไม่สามารถวิฉัยคดีได้ ไม่สามารถจับท่าทางกริยาของจำเลยได้.-สำนักข่าวไทย