หอศิลป์ กทม.4 ต.ค.-นักวิชาการชี้ผลสำรวจคนไทยกว่าครึ่งรู้อันตราย แต่ไม่มีทางเลือก ผลศึกษาในสหรัฐฯ ยันนั่งท้ายกระบะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่านั่งข้างใน – คาดเข็มขัด 8 เท่า เสนอรัฐเข้มนั่งท้ายกระบะ-ขับเร็ว-ดื่มแล้วขับ ไม่ต้องรอเทศกาล
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “ถอดรหัสโศกนาฎกรรมท้ายกระบะ ทำอย่างไรไม่ซ้ำรอยเดิม” นำกรณีศึกษาอุบัติเหตุกระบะเสียหลักพลิกค่ำ ทำให้นักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษเสียชีวิตรวม 17 ราย
จากสถิติพบประเทศไทย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 24,000 ราย/ปี ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด กรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษ ถือเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรง เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพราะเป็นการใช้รถผิดประเภท นำรถกระบะมาบรรทุกคน /ผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก เนื่องจากใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ที่สำคัญคือสถานที่จัดเลี้ยงก่อนเกิดเหตุนั้น จัดขึ้นในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ เพราะโรงงานทุกแห่งต้องเคารพกฎหมาย ไม่ควรจัดงานเลี้ยงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความปลอดภัยไม่สูญเสียและไม่ผิดกฎหมาย
นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีหลายแง่มุมที่ต้องเร่งจัดการเพื่อมิให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก คือ 1.ด้านสาเหตุอุบัติเหตุ จากข่าวที่ปรากฏชี้ให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งแต่การดื่มแล้วขับ ขับเร็ว แซงกระชั้นชิดและการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก เพิ่มโอกาสในการพลิกคว่ำมากขึ้นด้วย 2.ด้านสาเหตุการเสียชีวิต เมื่อพลิกคว่ำแบบเทกระจาดด้วยความเร็วสูง ที่นั่งมาในท้ายกระบะก็จะพุ่งออกมาปะทะกับวัตถุบนถนน ทั้งพื้นถนนขอบฟุตปาธ เสาไฟ หรือแม้แต่กำแพงรั้ว ส่งผลต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
นพ.ธนะพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของศูนย์ฯ โดยสอบถามผู้นั่งท้ายกระบะจำนวน 200 คน ในเขต กทม.และปริมณฑล ถึงความเสี่ยงในการนั่งท้ายกระบะ พบว่าร้อยละ50 หรือครึ่งหนึ่ง รู้ว่าอันตรายแต่ไม่มีทางเลือก ขณะที่เกือบ 1ใน3 หรือร้อยละ30 เห็นว่าไม่เสี่ยงและไม่ได้อันตรายมาก กว่าการนั่งในตำแหน่งอื่น นอกจากนี้ศูนย์ฯยังได้จำลองให้เห็นโอกาสพลิกคว่ำ โดยเปรียบเทียบรถกระบะที่ไม่บรรทุกคน น้ำหนัก 1.5 ตัน จะมีความเสี่ยงในการพลิกคว่ำร้อยละ12 แต่ถ้าบรรทุกคน 10 คน หนักคนละ 60 กก. เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำร้อยละ28 หรือเพิ่มขึ้น 2เท่า และถ้าคนในท้ายกระบะยืนขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำขึ้นไปอีก 4 เท่า เมื่อเทียบกับไม่มีการบรรทุกคน
ขณะที่ผลการศึกษาในสหรัฐฯ ยืนยันความเสี่ยงที่ผู้โดยสารนั่งกระบะหลังจะเสียชีวิตมีมากกว่าผู้โดยสารตอนหน้าที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 8 เท่ากรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด พบว่ามีความเสี่ยง ได้แก่ ดื่ม/เมาขับ ขับเร็ว คึกคะนอง และบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก
“ทางออกแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือรณรงค์ห้ามนั่งท้ายกระบะกำหนดให้โฆษณารถกระบะ ต้องระบุความเสี่ยงของการนั่งท้ายกระบะ และการนั่งใน space cab ติดตั้งโครงยึดเกาะในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ เข้มงวดให้บรรทุกไม่เกิน 6 คนและขับไม่เร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หน่วยงานองค์กร โรงงานต่างๆ ต้องมีมาตรการ กำกับดูแลไม่ให้มีการนั่งท้ายกระบะ หรือถ้าจำเป็นควรมีเงื่อนไขด้านความปลอดภัย เช่น มีโครงยึดเกาะ ใช้ความเร็วตามกำหนด รถมีการตรวจสภาพพร้อมใช้ มีประกันภัยฯลฯ’ นพ.ธนะพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีข้อกำหนดให้ทุกครั้งที่มีงานรื่นเริงและมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานรื่นเริงต้องตั้งจุดตรวจป้องปรามเมื่อมีการบรรทุกท้ายกระบะเกิน 6 คนตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และหากเกิดอุบัติเหตุควรมีการเจาะเลือดตรวจวัดภายใน 1-2 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีรถกระบะล่าสุด พบแอลกอฮอล์ของคนขับ 38mg% แต่เป็นผลตรวจหลังเกิดเหตุ 5 ชั่วโมงซึ่งถ้าตรวจเร็วผลเลือดอาจมากกว่านี้ เพราะทุกชั่วโมงแอลกอฮอล์จะลดลง 10-15 mg%
อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมตำรวจที่ดำเนินการแจ้งข้อหาดื่มแล้วขับกับผู้ขับขี่รายนี้ที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 mg% จึงถือว่าขับรถในขณะเมาสุรา
ขณะที่ น.ส.ลัดดา เฉยยั่งยืน ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั่งท้ายกระบะ กล่าวว่า ตนสูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์รถเก๋งเสียหลักชนท้ายกระบะก่อนพุ่งชนรถแบคโฮ เหตุเกิดที่ไทรน้อย ถนนสาย340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) เมื่อวันที่ 6 เม.ย.62 ขณะนี้ยังทำใจยอมรับความสูญเสียไม่ได้ ถ้าวันนั้นพี่ชายไม่นั่งท้ายกระบะคงไม่เสียชีวิต แค่เสี้ยววินาทีที่จะต้องเดินทางไปทำงาน เขาขอนั่งท้ายกระบะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงกระเด็นออกจากตัวรถเสียชีวิต ส่วนความคืบหน้าของคดียังไม่สิ้นสุด ต้องรอสอบว่าใครถูกผิดและงานที่พี่ชายทำเป็นงานรับเหมา ไม่ได้มีสวัสดิการอะไร จึงยากที่จะได้รับการเยียวยาจากนายจ้าง ส่วนคนขับกระบะมีเพียงไปร่วมงานเผาศพ และคู่กรณีก็ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย
“อยากให้กรณี 17 ศพและกรณีของพี่ชาย เป็นบทเรียนกับทุกชีวิต การนั่งท้ายกระบะเสี่ยงอันตรายมาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดมักนั่งท้ายกระบะ ยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ กฎหมายช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่การมีจิตสำนึกจะลดอุบัติเหตุความสูญเสียไม่ให้เกิด ขึ้น อยากให้ทุกคนช่วยกันเตือนช่วยกันห้ามเวลาเจอคนนั่งท้ายกระบะ” นางสาวลัดดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย