กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – โรงผลิตบี 100 เร่งปรับปรุงมาตรฐานรับการประกาศใช้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ส่งผลต้นทุนพุ่ง 1.50-2.00 บาท/ลิตร มีผลต่อราคาน้ำมัน 10 สต./ลิตร ด้านบีบีจีไอ ลงทุน 100 ล้านบาท
นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในเครือบางจากฯ กล่าวว่า บริษัทลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงการผลิตบี 100 ให้ได้มาตรฐานใหม่ที่กำหนด ที่พร้อมจะนำมาผสมขายในมาตรฐานบี 10 อย่างไรก็ตาม จะส่งผลให้กำลังผลิตแต่ละโรงงานปรับลดลงของบริษัททั้ง 2 โรงงานกำลังผลิตรวม 1 ล้านลิตรต่อวัน กำลังผลิตจะลดลงประมาณร้อยละ 10-15 ดังนั้น บริษัทกำลังศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้กำลังผลิตเท่าเดิม ซึ่งคงจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ภาพรวมแล้ว ต้นทุนของบี 10 แต่ละโรงงานจะขยับขึ้นมากน้อยเพียงใด แล้วแต่เทคโนโลยีของแต่ละโรง
“โรงงานไบโอดีเซล ขณะนี้ทยอยปรับปรุงบี 100 ให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนด แต่ยังมีปัญหา คือเรื่องมาตรฐานน้ำในบี 100 ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะให้ได้มาตรฐานตั้งแต่โรงงานไบโอดีเซล แต่ในช่วงขนถ่าย เพื่อนำไปผสมบี 10 ก็อาจจะมีปัญหาน้ำปนเปื้อนและมาตรฐานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไปผสมบี 10 ที่โรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน จึงหารือกับภาครัฐว่าในส่วนนี้ว่าควรดำเนินการอย่างไร” นายพงษ์ชัย กล่าว
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล หลังจากขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายดีเซล บี 10 ในปั๊ม เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 และมีขายทุกปั๊มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคาดว่าปีหน้าจะมียอดการใช้อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน, บี 20 อยู่ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน บี 7 อยู่ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะมีการใช้บี 100 อยู่ที่ 7 ล้านลิตรต่อวัน หรือช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ 2.2-2.3 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้ผลิตบี 100 ที่มีอยู่ 13 โรงงาน มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 8.3 ล้านลิตรต่อวัน ขณะนี้สามารถผลิตบี 100 ได้ตามมาตรฐานใหม่ที่จะใช้กับดีเซล บี 10 ได้ 9 ราย กำลังผลิตรวม 6.9 ล้านลิตรต่อวัน และส่วนที่เหลือได้แจ้งว่าจะสามารถผลิตได้ทันกำหนดวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยทุกรายต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานใหม่ตามมาตรฐานสมาคมยานยนต์ญี่ปุ่น (JAMA) กำหนด คือ ปรับมาตรฐานไขมัน (WAX) ในส่วนของโมโนกลีเซอไรด์ปรับลดจากไม่เกินร้อยละ 0.7 เป็นไม่เกินร้อยละ 0.4 และสัดส่วนน้ำจดลดลงจาก 300 ppm เหลือ 200 ppm ซึ่งมีผลทำให้บี 100 ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.50- 2.00 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสะท้อนต่อต้นทุนราคาดีเซล บี 10 ในอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน โดยกำหนดให้บี 10 ราคาถูกว่าบี 7 ในอัตรา 2 บาทต่อลิตร ส่วนบี 20 ถูกกว่าบี 7 ในอัตรา 3 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย