22 ก.ย. – ต้นทุนที่พุ่งขึ้น ล่าสุด FED ขยับดอกเบี้ยขึ้นอีก และคาดกันว่าดอกเบี้ยของไทยจะขยับตาม ฟังมุมมองของผู้บริหาร บจ. ว่าปรับตัวในองค์กรในการทำงานย่างไร เพื่อรับกับภาวะที่เปลี่ยนแปลง โดย บจ.ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ได้ล็อกต้นทุนดอกเบี้ยด้วยการออกหุ้นกู้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ Developer รายแรกที่ทำหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบ ยอมรับว่าภาวะที่เกิดขึ้น บริษัทได้ปรับตัวตามภาวการณ์ของผู้บริโภค ลูกค้าหลายราย รายได้ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ผู้ยื่นกู้อสังหาริมทรัพย์ยื่นกู้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสถาบันการเงินถึงครึ่งหนึ่ง ผลสำรวจของหลายองค์กร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่ารายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขึ้นสวนทางกับค่าครองชีพ คนส่วนใหญ่ถึง 60% มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ารายจ่าย กลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนคนที่ได้รับผลกระทบสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น ๆ และรายจ่ายที่พักอาศัยมีสัดส่วนร้อยละ 13-14 ดังนั้น เสนาจึงได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการลดขนาดทั้งอสังหาฯ และพื้นที่ส่วนกลางให้เล็กลง เพื่อให้เกิดราคาที่ผู้ซื้อสามารถซื้อและกู้ผ่านได้
ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นเป็นเฉียด 5 บาทต่อหน่วย ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน ติดโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เสนาผลักดันให้ลูกบ้านเสนอขายไฟส่วนที่เหลือให้กับรัฐเพิ่มเติม โดยรัฐได้ปรับราคารับซื้อจาก 1.68 บาท เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และยังอยู่ระหว่างการทดลองโครงการ ERC Sandbox กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทดลองขายไฟฟ้าระหว่างกันเองในหมู่บ้าน ติดตั้งแบตเตอรี่ส่วนกลางสำรองไฟฟ้า นำไฟเหลือใช้ขายแก่ระบบหากขายในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปัจจุบันก็นับว่าคุ้มค่าต่อภาพรวม
ด้านภาคธุรกิจก็ปรับตัว ผู้บริหารมองว่าธุรกิจขนาดใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย และจากที่ประเทศไทยผ่านมาหลายวิฤติทั้งต้ำยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ โควิด-19 ก็ยิ่งมีประสบการณ์พร้อมปรับตัวรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการหาโอกาสขยายการลงทุนให้ธุรกิจเติบโต ให้ความสำคัญต่อแผนความเป็นกลางทางคาร์บอน หากไม่ดำเนินการก็จะเป็นความเสี่ยงสำคัญของภาคธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมชาวบ้านเพิ่มรายได้ พร้อมมองว่าราคาน้ำมันจะแพงอีกหลายปี
ศูนย์ EIC ธ.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การซื้อสินค้าที่แตกต่างกันเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการในภาพรวม เลือกซื้อสินค้าจัดรายการโปรโมชั่นและการซื้อสินค้าออนไลน์ กลุ่ม Gen Z ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อกลยุทธ์การตลาด ปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหลากหลายรูปแบบกว่า Generation อื่น กลุ่ม Baby boomer มีการปรับพฤติกรรมค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีความภักดีต่อแบรนด์สินค้าสูงจากการปรับพฤติกรรมโดยการเลือกซื้อสินค้าแบบเดิมแต่ลดปริมาณเป็นหลัก. – สำนักข่าวไทย