ราชบุรี 30 ก.ย.- เปิดใจแห่งความปลาบปลื้ม “น.อ.ทองย้อย” วัย 74 ปี ข้าราชการเกษียณทหารเรือ ได้รับมอบหมายแต่งกาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 หลังจากแต่งกาพย์เรือมาแล้วในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 พร้อมถ่ายทอดวิชาแต่งโคลงกลอนให้เยาวชนสืบสานศิลปะไทย
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อายุ 74 ปี ข้าราชการเกษียณทหารเรือ อยู่บ้านเลขที่ 3/2 ซอย 1 ถนนเขางู ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยถึงความภาคภูมิใจได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ว่า ก่อนหน้านี้กองทัพเรือได้มอบหมายให้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เสวยพระราชสมบัติ ครบ 50 ปี สมัยนั้นยังรับราชการเป็นทหารเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือในชั้นยศนาวาโท ซึ่งกาพย์เห่เรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค สมัยก่อนประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ สัญจรทางเรือเป็นหลัก แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินครั้นเสด็จพระราชดำเนินก็จะต้องทางเรือ จึงมีกระบวนเรือหลายลำเป็นขบวนใช้แรงคนในการพายเรือ ต่อมาทำให้เกิดการร้องเพลงไปด้วยระหว่างพายเรือเพื่อไม่ให้เหนื่อย และเป็นสัญญาณความพร้อมเพรียงถือเป็นปฐมเหตุของการเห่เรือ
“กาพย์เห่เรือหมายถึง โคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานีอีกจำนวนหนึ่งแล้วแต่ความยาวจะพรรณนาเรื่องอะไรบ้าง โดยรวมโคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานีเข้าด้วยกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท ใช้ร้องในเวลาเรือเคลื่อนขบวน มีการพรรณาความงามของเรือ หรือการชมธรรมชาติระหว่างทาง ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”
นาวาเอกทองย้อย กล่าวอีกว่า กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทยที่ควรรักษาไว้ เนื่องจากมีแห่งเดียวในโลก และอยากจะถ่ายทอดวิชาการแต่งโคลง กลอน กาพย์เห่เรือให้กับรุ่นลูกหลาน เพื่อสืบสานศิลปะความรู้ติดตัวไปจะได้ไม่สูญหาย.-สำนักข่าวไทย