กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – ก.พลังงานเร่งรัดดูดซับปาล์ม เดินหน้าแผนใช้บี 10 ขายได้ทุกปั๊ม 1 มี.ค.63 ดูดซับซีพีโอได้ 2/3 “สนธิรัตน์” จี้ กฟผ.เร่งซื้อปาล์มมาเผาทำไฟฟ้า 1.33 แสนตันในเดือน ต.ค.นี้ ย้ำแผนไทยเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีในภูมิภาค
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ในวันนี้ (27 ก.ย.) ได้เชิญผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซล และผู้ผลิตไบโอดีเซล (บี100) มาหารือเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการผลักดันนโยบายการปรับน้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานตามที่ ครม.เห็นชอบให้ประกาศกำหนดให้บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 และน้ำมันบี 7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และบี 20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ขบวนการจัดการน้ำมันต้องมีช่วงเปลี่ยนแผน ดังนั้น ที่ประชุมวันนี้ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและระยะเวลาในการดำเนินการ คือ
– 1 ต.ค.62 ขอความร่วมผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี10 ในสถานีบริการ
– 1 ธ.ค.62 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพไบโอดีเซล (บี100) เหลือชนิดเดียว
– 1 ม.ค.63 ทุกคลังของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิต บี10
– 1 มี.ค.63 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีจำหน่ายในสถานีบริการ ทุกสถานี
“เมื่อใช้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ก็จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายการใช้บี 100 ประมาณ 7.0 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน หรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซื้อ CPO เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง 133,750 ตัน ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากมติ ครม.เดิมที่ให้ซื้อได้ทันทีในช่วงราคาตกต่ำ เพื่อพยุงราคาในช่วงที่ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากและทันต่อสถานการณ์ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งทั้ง กฟผ.รับซื้อปาล์มและเร่งรัดดีเซลบี10 มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับราคาผลผลิตปาล์มที่ออกสู่ตลาดระบายสตอกเหลืออยู่อย่างเป็นระบบ เกิดประโยชน์ต่อชาวสวนปาล์มโดยเฉพาะช่วงปลายปีนี้
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในการเข้าร่วมประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุม ทราบว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ใช้และผู้นำเข้า LNG ได้วางกลยุทธ์ภายใต้แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ในการสร้างความมั่นคง คาดว่าความต้องการก๊าซฯ ของไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 หรือ 5,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2579 ไทยมีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มการแข่งขันในตลาด LNG และการปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่รองรับ ซึ่งในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ไทยยังได้นำเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น และใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าผ่านโครงการท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดนอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนอาเซียนใช้โครงสร้างพื้นฐาน LNG ขนาดเล็กและการสร้างคลังสำหรับจัดเก็บ LNG.-สำนักข่าวไทย