กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ คาด 9 วัน ยังคงมีความคึกคัก เม็ดเงินสะพัดกว่า 46,500 ล้านบาท ยังขยายตัวร้อยละ 1.3
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2562 พบว่า ปีนี้ประชาชนร้อยละ 38.4 ตั้งใจจะกินเจ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากตั้งใจที่จะทำบุญโดยลดการกินเนื้อสัตว์ และเริ่มเป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมของคนที่รักสุขภาพมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะไม่กินตลอดเทศกาล จะเลือกกินเพียงบางมื้อเท่านั้น เพราะแม้จะมีการวางแผนใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งค่าอาหารเจที่หันมาซื้ออาหารปรุงสำเร็จและสั่งออนไลน์มากขึ้น รวมถึงค่าทำบุญและค่าเดินทางไปทำบุญเฉลี่ยคนละ 11,000 บาท สูงกว่าปีที่แล้วที่เฉลี่ยคนละ 10,936 บาท ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้อยู่ที่ 46,549 ล้านบาท แม้จะขยายตัวร้อยละ 1.3 แต่เป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ทำการสำรวจมา
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้จ่ายในเทศกาลกินเจปีนี้จะสะท้อนว่ามีความคึกคัก แต่ยังเห็นภาพของการระมัดระวังการจับจ่าย เพราะประชาชนตั้งใจที่จะไม่กินเจตลอดเทศกาลมากขึ้น และยังมองว่าขณะนี้ เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะชิมช้อปใช้ ที่ได้รับการตอบรับของประชาชนจำนวนมาก น่าจะลงทะเบียนตามเป้าหมาย 10 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีคนใช้จ่ายประมาณร้อยละ 90 หรือ 9 ล้านคน น่าจะเติมเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบจากภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท แต่หลังจากนี้จะมีงบเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการซ่อมแซมก่อสร้างในพื้นที่ รวมทั้งมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องที่จะเข้าเสริมภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ได้ แต่ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งสงครามทางการค้า และการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่สถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตในกรอบเดิมร้อยละ 3 – 3.2 .-สำนักข่าวไทย