รร.เดอะฮอลล์บางกอก 12 ก.ย.-เครือข่ายเยาวชน จับมือภาครัฐ สสส.จัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ ชูแนวคิด “เปลี่ยนแว้นเป็นว้าว” หลังวัยโจ๋ไทยซิ่ง แว้นบนท้องถนนก่อปัญหาสังคม เผยนายกฯสั่งเข้มดูแลจริงจังคาดโทษเจ้าหน้าที่หากละเลย พร้อมงัด พ.ร.บ.เด็กล้อมคอก หนุนโครงการสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน ครอบครัว ผู้ปกครองเข้าร่วม ขอภาครัฐเปิดพื้นที่ปลอดภัย รับฟัง ชักชวนทำประโยชน์เพื่อสังคม เห็นคุณค่าตัวเอง
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสสส. จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ชูแนวคิด“เปลี่ยนแว้นเป็นว้าว” พร้อมเสวนา “มองเด็กแว้นอย่างเข้าใจ…แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน” และได้นำเสนอพื้นที่ตัวอย่างในการชักชวนเด็กแว้นให้หันมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนรักษาการอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กแว้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะมีความคึกคะนอง สร้างการยอมรับในทางที่ผิด มีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก นอกจากสร้างความรำคาญ แล้วสิ่งที่ส่งผลเสียมากที่สุดคือ การขับรถเร็วเพื่อแข่งกัน บางรายอาจแค่มีแผลเล็กน้อย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิต
“ปัจจุบันตำรวจ ฝ่ายปกครองเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้อย่างมาก มีการจับกุมดำเนินคดีกันอย่างกว้างขวางโดยใช้ กฎหมายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 และ 46/2559 เป็นเครื่องมือ แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบของพ่อแม่ ผู้ปกครองก็เป็นเรื่องสำคัญ การที่ยินยอมหรือปล่อยปะละเลยให้มีการกระทำการดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครอบก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำทัณฑ์บน วางเงินประกัน กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด การติดตามเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งจะทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมแน่นอน จึงอยากบอกถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจข้อกฎหมายตรงนี้ด้วย” นายอนุกูล กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.ตชด.คณะทำงานป้องกันและปราบปรามการแข่งรถ กล่าวว่า นับเป็นความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กแว้น ซึ่งหากมีการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีบทลงโทษ โดยการดำเนินงานทางตำรวจจะมีมาตรการก่อนและหลังเกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุคือจะมีการสืบหาข้อมูลของกลุ่มเด็กแว้น ว่าจะมีการแข่งขันที่ไหนเวลาใดจะมีการเก็บหลักฐานที่มีทั้งภาพถ่าย วิดิโอไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิด ส่วนมาตรการหลังเกิดเหตุ
ในส่วนของผู้ปกครองจะเริ่มที่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ ดำเนินคดี หลังจากที่มีคำสั่งของ คสช.ออกมาแล้ว ทำให้ปัญหาของเด็กแว้นลดลงจากเดิมถึง 70-80% ปัจจุบันมีผู้ปกครองที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 13 ราย และ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดเงินรางวัล 3,000 บาทสำหรับผู้แจ้งเบาะแสเด็กแว้น รวมไปถึงบรรดาแอดมินเพจ โดยสามารถแจ้งทางโชเชียลมิเดีย ตร.สายด่วน 1599 ,191
ขณะที่นายเอ(นามสมมติ) อายุ 20 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เยาวชนที่เคยใช้ชีวิตเด็กแว้น กล่าวว่า ช่วงที่ เรียนอยู่ม.1 เกเรมาก ไม่อยากเรียน และติดเพื่อน ชอบนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปกับกลุ่มเพื่อนและชื่นชอบการแต่งรถ กระทั่งขึ้น ม.2พ่อไว้ใจให้ขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนเองยิ่งท้าทาย ได้รู้จักกลุ่มเด็กแว้นจากกลุ่มเล็กๆก็ขยายใหญ่ขึ้นและจะนัดรวมกันมาแว้นประจำแถวเส้นพระราม 2 มหาชัย ถนนอักษะ ตกดึกก็ปิดถนน ไม่กลัวตำรวจ แม้จะเคยโดนจับ และเคยเกิดอุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน แผลเป็นเต็มตัวไปหมดก็ยังไม่เลิกแว้น
“ตอนนั้นคึกคะนองมาก รู้แค่ว่าสนุก ได้เพื่อนใหม่ๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง เวลาแข่งก็จะบิดคันเร่งมิดไมล์ จะแว้นไปทุกที่ที่มีถนน จนชาวบ้านเบื่อหน่าย แต่เราก็ไม่ได้แคร์อะไรหลายคนต้องมาเจ็บตัว เช่น ฝ่าไฟแดงชนประสานงา จนอายุ17 ก็เริ่มเห็นผลกระทบมากมาย ทำให้พ่อแม่เสียใจ เพราะโกหกและเคยขโมยเงิน พอสะสมได้4-5พัน ก็เอาไปแต่งรถ สุดท้ายเรียนไม่จบต้องออกกลางคัน ย้อนกลับไปมองตัวเองในช่วงนั้น เสี่ยงกับความตายหรือบาดเจ็บพิการมากๆ ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นคนที่ต้องมานั่งดูแลเราก็คงไม่พ้นพ่อแม่ อยากฝากเตือนสติกลุ่มวัยรุ่นที่รักในการแข่งรถว่า ต้องไปแข่งในสนามที่เขาจัดไว้ให้อย่างถูกต้องและเซฟตี้ปลอดภัยไว้ก่อน ไม่สร้างความเดือนร้อนให้ใคร เพราะเมื่อพลาดมาทั้งตัวเรา คนรอบข้างหรือเพื่อร่วมทางก็มีแต่จะสูญเสีย สุดท้ายอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของเด็กกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ว่าลึกๆแล้วต้องการอะไร การมีพื้นที่ปลอดภัยให้แลกเปลี่ยนบอกเล่าความรู้สึก แล้วค่อยๆชักชวนเขามาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและให้เขาได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เช่นที่บ้านกาญจนาภิเษกก็ได้ครับ มีกระบวนการหลายอย่างที่นำไปปรับใช้ได้ ขนาดพวกผมที่ต้องโทษมาแล้วยังคิดได้เลย น้องๆที่ยังไปไม่ไกลขนาดพวกผม คงจะพอเห็นทางออกได้ไม่ยาก” อดีตเด็กแว้น กล่าว
ขณะที่ในงานได้นำเสนอความสำเร็จของการเปิดพื้นที่ให้เด็กแว้นทำอย่างสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มเยาวชน ทุ่งใสหัวใจยิ้ม จังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่่ม บางกอกนี้ดีจัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ลดปัญหาการแว้น เพิ่มจำนวนเยาวชนที่หันมาทำความดีมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย