กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ พื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดลพร้อมทำหน้าที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ล่าสุดรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมเข้าไปเก็บกักแล้วในทุ่งและในคลองชลประทานต่างๆ แล้ว 200 ล้าน ลบ. ม. จากที่รับได้ 550 ล้าน ลบ. ม.
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 แก่พื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดลซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นพื้นที่เพาะปลูก 382,000 ไร่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยวที่เหลือเป็นพื้นที่ค่อนข้างดอน คาดการณ์ว่าประมาณกลางเดือน กันยายน 2562 จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด
สาเหตุที่การเก็บเกี่ยวล่าช้ากว่าแผน จากเดิมที่กำหนดให้เสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนสิงหาคม แต่เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายน- พฤษภาคม อากาศมีอุณหภูมิสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ชาวนาเห็นว่า จะทำให้การงอกและการเจริญเติบโตของข้าวไม่ดี จึงเริ่มทำนาล่าออกไป อีกทั้งเมื่อข้าวเริ่มออกรวงเจอกับอากาศร้อนทำให้ผลผลิตต่ำ เกษตรกรบางส่วนต้องปลูกใหม่ซึ่งข้าวที่ปลูกล่าและปลูกใหม่นี้ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว
ทั้งนี้ บางระกำโมเดล มีพื้นที่ 382,000 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอบางระกำ และบางส่วนของอำเภอเมืองพิษณุโลก รวมถึงอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย รองรับน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม น้ำในแม่น้ำยมไหลมาจากพื้นที่ตอนบน ตั้งแต่จังหวัดพะเยา แพร่ สุโขทัย ลงมาถึงพิษณุโลก
ล่าสุดกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ประตูระบายน้ำ (ปตร ) บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยผันน้ำลงมาทางแม่น้ำยม โดยควบคุมให้ช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย ไม่ให้เกิดผลกระทบ แล้วลงมาที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล และอีกทางหนึ่งผันมาทางแม่น้ำยมสายเก่าซึ่งยาวประมาณ 78 กิโลเมตร แล้วมาบรรจบกับคลองเมมคลองบางแก้ว จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นคลองสายหลักในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ผ่านพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล แล้วจึงระบายลงสู่แม่น้ำยม
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รับน้ำเข้าทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วในพื้นที่บางระกำโมเดล 70,000 ไร่ เป็นปริมาตร 100 ล้านลบ.ม. หากรวมปริมาณน้ำที่อยู่ในลำคลองต่างๆ รวมประมาณ 200 ล้านลบ.ม. การผันน้ำเข้าไปเก็บกักในพื้นที่บางระกำโมเดลจะช่วยลดผลกระทบทั้งตามแนวแม่น้ำยมสายเก่าและคลองเมม-คลองบางแก้ว อีกทั้งลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดพิจิตรลงไป เนื่องจากขณะนี้แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมีปริมาณน้ำมาก โดยยังคงรับน้ำเข้าเข้าทุ่งอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่โครงการเนื่องจากน้ำที่ขังทุ่งจะหมักตอข้าวกลายให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ กำจัดโรคพืชโรคแมลง วัชพืช และหนูที่คอยกัดกันข้าว ในฤดูนาปี 2562 มีหนูนาชุกชุมกัดกินข้าวเสียหายเนื่องจากเมื่อปี 2561 ปริมาตรน้ำที่ผันเข้าทุ่งน้อยทำให้หนูนาขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ชาวนาจึงพึงพอใจที่ปีนี้มีน้ำผันเข้าไปในทุ่งเพื่อตัดวงจรศัตรูพืช ก่อนเริ่มเพาะปลูกใหม่ในปีหน้า
กรมชลประทานกำลังเตรียมประสานกรมประมง เพื่อนำพันธุ์ปลาไปปล่อยในทุ่งเพื่อให้เกษตรกร มีบริโภคในครัวเรือนและจับขายเป็นรายได้เสริมจนถึงพฤศจิกายน ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูแล้ง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการที่ดำเนินโครงการบางระกำโมเดลมาตั้งแต่ปี 2560 ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระยะเวลาปลูกข้าวให้เร็วขึ้นและยินดีให้ใช้พื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นทุ่งรับน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำยมได้อย่างดี จนกระทั่งขยายมาดำเนินโครงการปรับร่นเวลาทำนาในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา โดยเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนี้เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยว คาดว่า เสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนนี้ จากนั้นพื้นที่เหล่านี้พร้อมจะเป็นทุ่งรับน้ำหลากได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. หากมีน้ำเหนือไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอีกระลอก . – สำนักข่าวไทย