กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งเตรียมพร้อมรับพายุลูกใหม่ เร่งสำรวจความเสียหายทันทีหลังน้ำลด ย้ำช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือประชาชนรับสถานการณ์พายุดีเปรสชั่น ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ศูนย์กลางอยู่ที่เกาะไหหลำของจีนและคาดการณ์ว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งจะส่งผลให้หลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 4 กันยายน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับระยะนี้กำชับกรมชลประทานให้เฝ้าระวังพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจากพายุโพดุลอยู่แล้วเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดอุทกภัยซ้ำได้ สั่งการให้ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือไปประจำทุกจุดเสี่ยงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานในการสูบระบายน้ำ คาดว่าความเสียหายจากพายุลูกใหม่นี้จะน้อยกว่าพายุโพดุล แต่ที่เป็นห่วง คือ ฝนตกซ้ำในพื้นที่ที่ยังระบายน้ำออกไม่หมด จึงให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและหากจำเป็นต้องขุดเปิดทางน้ำก็ให้เร่งทำ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้เร็วที่สุด
“กระทรวงเกษตรฯ น้อมนำพระราชกระแสของในหลวงที่ให้ทุกหน่วยงานดูแลราษฏรให้ดีที่สุดและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งเตรียมมาตรการเชิงรุกสำหรับรับสถานการณ์และจะเร่งกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจความเสียหายทันทีหลังเกิดภัยทั้งจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แล้วพลิกผันเป็นอุทกภัย หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ พื้นที่แปลงเดียวจะไม่มีจ่ายค่าชดเชยเสียซ้ำซ้อนกันทั้ง 2 กรณี เช่น จ.ขอนแก่นสำรวจพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งไปแล้ว หากพืชผลของเกษตรกรเสียหายมากกว่า 50% ถือว่าเสียหายโดยสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยกำหนดให้นาข้าวได้ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและพืชอื่น ๆ ได้ไร่ละ 1,690 บาท ถ้าพื้นที่เดียวกันนี้น้ำท่วมซ้ำจะไม่ได้รับค่าชดเชยกรณีประสบอุทกภัย แต่เกษตรกรยังสามารถเข้าโครงการประกันรายได้ตามฤดูกาล โดยผลผลิตที่เหลือจากความเสียหายนั้นนำมาเข้าโครงการได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว เมื่อสำรวจความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัยจะเสนอของบจาก ครม.มาชดเชยเกษตรกร สำหรับงบ 15,800 ล้านบาทที่เป็นงบกลางนั้นได้ขอมาใช้แก้ภัยแล้งทั้งขุดลอกแห่งน้ำ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ 76 จังหวัดทั้วประเทศ
ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รมว.เกษตรฯ สั่งการให้ทุกจังหวัดลงพื้นที่เตือนเกษตรกร เฝ้าระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและได้รับผลกระทบสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดทันที พร้อมแนะนำให้เกษตรกรดูแล ข้าว พืชไร่ไม้ผล เพราะช่วงนี้บางพื้นที่เป็นช่วงที่บางพืชเก็บเกี่ยว ทำให้ต้องเตรียมช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมกำชับทั้งทุกจังหวัด รายงานผลสำรวจให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกวัน นอกจากนี้ ยังเตรียมการให้ผลิตชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา เพื่อเตรียมแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดทันที หลังน้ำลดสารชีวภัณฑ์จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากโรคพืชที่มากับน้ำได้ ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่เกษตรกรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง โดยเกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.-สำนักข่าวไทย