กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – กรมรางสรุปมาตรการลดราคารถไฟฟ้า 2 รูปแบบ ทำตั๋วเดือนและลดเพดานราคาช่วงนอกเวลาเร่งด่วนให้ที่ประชุมโครงสร้างราคาอนุมัติ 6 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอคมนาคมอนุมัติเริ่มวางมาตรการเดือนตุลาคมนี้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 6 กันยายนนี้คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางจะมีการพิจารณาและอนุมัติมาตรการลดค่าครองชีพในการเดินทางแก่ผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้า โดยในส่วนของการลดราคาค่ารถไฟฟ้านั้น จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการจัดทำตั๋วเดือนที่จะลดราคาจากค่าโดยสารเฉลี่ย รวมทั้งการปรับลดราคาการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วน (ออฟ พีค) โดยจะลดราคาค่าโดยสารช่วงออฟพีคลง โดยจะมีการกำหนดเวลาอีกครั้งภายใต้แนวคิดให้เวลาออฟพีคของรถไฟฟ้าทุกระบบตรงกัน
เริ่มจากลดราคาแบบจัดทำตั๋วเดือน ซึ่งจะเป็นการลดราคาค่าโดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าแต่ละระบบ ในส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ ราคาปกติ อยู่ที่ 15-45 บาท /คน/เที่ยว มีราคาเฉลี่ย 31 บาท เมื่อทำตั๋วเดือน จะลดค่าโดยสารเฉลี่ยเหลือ 25-30 บาท/คน/เที่ยว โดยช่วงออฟพีคจะเก็บราคา 15-25 บาท /คน/เที่ยว
รถไฟฟ้าสายสีม่วง อัตราปัจจุบัน 14-42 บาท/คน/เที่ยว ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 21 บาท ตั๋วเดือนจะลดเฉลี่ยเหลือ 15-20 บาท /คน/เที่ยว และจัดเก็บช่วงออฟพีค 14-25 บาท/คน/เที่ยว
ส่วนสายสีน้ำเงิน ปัจจุบัน 16-42 บาท/คน/เที่ยว อัตราเฉลี่ย คือ 25 บาท/คน/เที่ยว เมื่อเป็นตั๋วเดือนค่าโดยสารจะลดลงเหลือ 20-25 บาท/คน/เที่ยว และช่วงออฟพีค จะลงมาเหลือ 16-30 บาท/คน/เที่ยว, ส่วนรถไฟฟ้า BTS ค่าโดยสารปกติอยู่ที่ 16-44 บาท/คน/เที่ยว โดยเป็นอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 29 บาท/คน/เที่ยว
ขณะที่อัตราค่าโดยสารโปรโมชั่นแบบตั๋วเดือนอยู่ที่ 26 บาท/คน/เที่ยว ซึ่ง BTS ยังไม่มีแผนที่จะลดค่าโดยสารในช่วงออฟพีค
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระบบร้อยละ 10 ของจำนวนผู้โดยสารปัจจุบัน แต่ยอมรับว่าอาจทำให้รัฐมีรายได้น้อยลง จึงได้เตรียมแผนหารือกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงการคลังในการนำภาษีป้ายวงกลมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละปีจัดเก็บได้ 14,000 ล้านบาท โดยจะขอจัดสรรมาใช้อุดหนุนมาตรการดังกล่าวปีละ 500-1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจูงใจให้คนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยจะใช้มาตรการทางภาษีในการนำใบเสร็จค่าโดยสารมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลักษณะเดียวกับโครงการช้อปช่วยชาติ พร้อมยืนยันมาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และหากมาตรการนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมก็จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้อนุมัติการบังคับใช้ทันที โดยเฉพาะมาตรการลดค่าโดยสารช่วงออฟพีค สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยจะเป็นการทดลองใช้มาตรการเป็นเวลา 3 เดือนก่อนกรมการขนส่งทางรางจะประเมินผลว่าส่งผลดีต่อการให้บริการระบบรางอย่างไร.-สำนักข่าวไทย