กรุงเทพฯ 1 ก.ย. – กรมชลประทานระบุมีน้ำท่วม 19 จังหวัด เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรและชุมชน คาดสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววันนี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่มตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ยืนยันเขื่อนต่าง ๆ ยังรับน้ำได้อีกมากและมั่นคงแข็งแรงดี
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า พายุโพดุลจะส่งผลให้มีฝนตกหนักวันนี้ (1 ก.ย.) เป็นวันสุดท้าย ขณะนี้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศระดมแก้ปัญหาอุทกภัย ล่าสุดมีน้ำท่วม 19 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมรายจังหวัดดังนี้ จังหวัดแพร่ ฝนตกหนักอำเภอร้องกวางวัดได้ 100 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมขังและเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมโรงเรียนบ้านผาตารางวังหม้อ ตำบลทุ่งศรี นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำแม่คำปองมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลงลำน้ำเดิม โครงการชลประทานแพร่ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 วัน
จังหวัดพิจิตร มีน้ำป่าจากอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตอำเภอสากเหล็ก รวมทั้งเกิดน้ำป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลล้นตลิ่งจากคลองธรรมชาติเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนและถนนสาย 11 ตำบลเขาทราย เทศบาลตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ ซึ่งโครงการชลประทานพิจิตรผันน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำคลองร่องกอกใหญ่ไปยังตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหินและส่งเครื่องสูบน้ำ 23 เครื่องเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่
จังหวัดน่าน ฝนตกหนักทำน้ำในอ่างเก็บน้ำน้ำแหง อำเภอนาน้อยไหลล้นทางระบายน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 300 ไร่ ตำบลเชียงของ และเกิดพื้นที่น้ำท่วมในตำบลสันทะ ศรีสะเกษ บัวใหญ่ และสถานของอำเภอนาน้อย รวมทั้งมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎรด้วย โครงการชลประทานน่านได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่องเร่งสูบน้ำออกและใช้รถตักหน้าขุดหลัง 1 คันขุดขยายทางระบายน้ำแล้ว
จังหวัดพิษณุโลก มีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเนินมะปราง วังทอง และนครไทย โครงการชลประทานพิษณุโลกส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
จังหวัดอุตรดิตถ์ มีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากการะบายน้ำในพื้นที่ไม่ทันและมีน้ำป่าไหลหลาก ล่าสุดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเหลืออำเภอน้ำปาด ส่วนอำเภอพิชัย สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ส่งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือและยังเฝ้าระวังภัยอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มจากการสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จะเข้าสู่สภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติม
จังหวัดยโสธร น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรบ้านกุดสำโรง ตำบลศรีฐาน ชุมชนบ้านโพธิ์ไทร ตำบลโพธิ์ไทร และบ้านแซซ่ง ตำบลเซียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว โครงการชลประทานยโสธรติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องเร่งระบายน้ำออก
จังหวัดร้อยเอ็ด มีน้ำท่วมจากห้วยเหนือและคลองคูเมือง น้ำล้นบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ถนนทางหลวง ถนนเทศบาล เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ระดับน้ำลึก 50 เซนติเมตร – 1.20 เมตร ซึ่งทางระบายน้ำออกจากจังหวัดมีจุดเดียวที่ปากห้วยกุดขวางทำให้ระบายไม่ทัน โครงการชลประทานร้อยเอ็ดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ช่วยเร่งระบายน้ำให้ออกจส่งลงห้วยกุดขวางและแม่น้ำชีโดยเร็ว ส่วนน้ำที่ท่วมด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำยังสูงประมาณ 2.20 ม. พื้นที่รวม 53,253 ไร่ 2 อำเภอ คือ อำเภอโพนทอง 12,730 ไร่ และอำเภอเสลภูมิ 40,523 ไร่ ทั้งนี้ จะมีพื้นที่น้ำท่วมขยายตัวเพิ่มอีกประมาณ 27,000 ไร่ จากเหตุการณ์คันพนังกั้นน้ำยัง กม.12+000 ขาดจากน้ำไหลล้นข้าม เมื่อเวลา 07.45 น. ของวานนี้ (31 ส.ค.) โครงการชลประทานร้อยเอ็ด และส่วนเครื่องจักรกลติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง และสนับสนุนกระสอบทรายประมาณ 2,950 ใบเข้าเสริมพนังกั้นน้ำ
จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่น้ำท่วมอำเภอเขาวง 1,110 ไร่ และในเขตบริเวณแก่งดอนกลางมีน้ำท่วมจากการเร่งพร่องน้ำอ่างฯ ห้วยสีทน โดยโครงการชลประทานกาฬสินธุ์และส่วนเครื่องจักรกลสำนักงานชลประทานที่ 6 ติดตั้งกาลักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนเพื่อลดปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีระดับสูงขึ้น ป้องกันไม่ให้สูงกว่าระดับเก็บกัก
จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสวรรค์ และอำเภอเมือง โครงการชลประทานชัยภูมิส่งเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไผ่ โดยท่วมบริเวณเทศบาลบ้านไผ่และถนนมิตรภาพ ส่งผลให้ถนนสายบ้านไผ่-บ้านเปือย ตำบลบ้านลานถูกน้ำกัดเซาะขาด ราษฎรไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยทรายซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง น้ำได้ล้นสันทางระบายน้ำล้นประมาณ 5 เซนติเมตร โครงการชลประทานขอนแก่นเร่งระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกแล้ว
จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม เส้นทางหลวงหมายเลข 2322 (โกสุม-โสกขุ่น) อำเภอโกสุมพิสัย ข้างโรงพยาบาล น้ำท่วมผิวจราจรเป็นระยะ 200 เมตร ต้องปิดการสัญจรเร่งสูบระบายลงแม่น้ำชี นอกจากนี้ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชลประทานหนองหวายรวม 2,700 ไร่ ตำบลหัวขวาง 300 ไร่ ตำบลเลิงใต้ 450 ไร่ ตำบลแห่ใต้ 1,800 ไร่ ตำบลยางน้อย 150 ไร่ ทางชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดอุดรธานี มีน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนบ้านหมากแข้งและบริเวณสะพานคลองผันน้ำ อำเภอเมือง น้ำกัดเซาะทำให้คอสะพานฝั่งขวาชำรุด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โครงการชลประทานอุดรธานีนำรถแบ็คโฮ 2 คันมาเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง
จังหวัดอุบลราชธานีเกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาพนมดงรักไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอดอนมดแดงและอำเภอตระการพืชผล โดยลำเซบกและลำห้วยสาขาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำกัดเซาะคอสะพานข้ามลำเซบกทรุดตัว โครงการชลประทานอุบลราชธานีเข้าช่วยราษฎรขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงและเร่งสูบระบายน้ำ
จังหวัดอำนาจเจริญน้ำท่วมสูงในเขตชุมชนเมืองอำนาจเจริญประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 เร่งสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ
จังหวัดมุกดาหารมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนิคมคำสร้อยและอำเภอเมือง โครงการชลประทานมุกดาหาร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องเพื่อเร่งการระบายน้ำ
จังหวัดสกลนครเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนนาแก้วและโคกศรีสุพรรณ โครงการชลประทานสกลนครติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องบริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณเพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำและเรียงกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการไหลข้ามคันเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอำเภอโพนนาแก้วแล้ว
จังหวัดสระแก้ว ฝนตกหนักบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา วัดได้ 174.4 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำท่วม 2 จุดได้แก่ บริเวณสะพานคลองโป่งดาวเรือง กม.16+450 สูงประมาณ 40 เซนติเมตร ปริมาณน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจุดนี้อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยกระบากที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา นอกจากนี้บริเวณบ้านโป่งดาวเรืองมีน้ำท่วมสวนยูคาลิปตัสประมาณ 100 ไร่ และบ้านเรือน 3 หลัง ขณะนี้น้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่ปกติใน 1 วัน
จังหวัดชุมพร ฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำคลองชุมพรทำให้ได้เกิดน้ำล้นตลิ่งที่คลองชุมพร โครงการชลประทานชุมพรติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลวังไผ่และอีก 4 ชุดที่บริเวณตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร
จังหวัดระนอง น้ำในคลองน้ำจืดไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนหน้าตลาดบ้านน้ำจืด ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี เกิดผลกระทบกับราษฎรประมาณ 100 หลังคาเรือน โครงการชลประทานระนองติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของชุมชน เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่
“กำชับโครงการชลประทานทุกพื้นที่เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังให้คลี่คลายเร็วที่สุด โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มพื้นที่ลุ่มต่ำมากจะใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่จะระบายออกได้หมดภายใน 2-3 วัน” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย