สำนักข่าวไทย 10 ส.ค.-หากเปรียบเทียบช่วง 10 เดือนของปี 2558 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ พบว่าสถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงร้อยละ 12.09 ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงมากถึงกว่าร้อยละ 30 ขณะที่จำนวนเหตุการณ์และตัวเลขการสูญเสียในช่วงเดือนรอมฎอนลดลงมากที่สุดในรอบ 12 ปี ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงปรับกำลังชายแดนใต้ โดยในเดือนตุลาคมปีนี้จะเริ่มต้นโครงสร้างใหม่
ไฟใต้ที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงในปี 47 ต่อเนื่องมาปี 48 และไม่มีทีท่าจะสงบลง พฤศจิกายน 2549 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ขณะนั้น ตัดสินใจส่งกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ลงไปช่วยกองทัพภาคที่ 4 รวม 22 กองพัน แบ่งพื้นที่ให้กองทัพภาคที่ 1 ดูแลนราธิวาส กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบปัตตานี และกองทัพภาคที่ 3 คุม ยะลา แต่เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมปีนี้ กำลังพลจาก 3 ทัพภาค จะกลับที่ตั้งทั้งหมด หลังฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์แล้วว่า “ดีขึ้นตามลำดับ”
ปัจจุบัน กองทัพภาคที่ 2 ถอนกำลังกลับที่ตั้งหมดแล้ว ตั้งแต่ตุลาคม 58 ยังเหลือในส่วนของกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 3 และนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หลังปรับกำลังชายแดนใต้ กองทัพภาคที่ 4 จะเป็นผู้รับผิดชอบจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ล่าสุด กำหนดให้ มณฑลทหารบกที่ 46 ดูแลปัตตานี กองทัพน้อยที่ 4 คุมยะลา ส่วนกองพลทหารราบที่ 15 รับผิดชอบนราธิวาส โดยจะเสริมกำลังประจำถิ่น เช่น อส. ชรบ. อรบ. และตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอีก 15,000 นาย ทำงานควบคู่กับทหารพรานอีก 13 กรม ส่งผลให้ชายแดนใต้มีกำลัง 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ พลเรือน มากถึง 75,000 นาย.-สำนักข่าวไทย