ภูมิภาค 28 ส.ค.-จ.ยโสธร หลายพื้นที่ยังน่าห่วง ล่าสุด ลำน้ำเซบายเอ่อล้นตลิ่ง ทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 200 หลัง ขณะที่สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปลายมาศ จ.นครราชสีมา ล่าสุด เหลือปริมาณน้ำใช้ได้จริงเพียง 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14 ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
หลายพื้นที่ จ.ยโสธร ยังน่าห่วง ล่าสุด น้ำจากลำน้ำเซบายเอ่อล้นตลิ่ง ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน บ้านกลาง-สระเกษ ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 50-80 เซนติเมตร ถนนในหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านกว่า 200 หลัง เดือดร้อนจากน้ำท่วม ชาวบ้าน ต้องเดินลุยน้ำสัญจรไปมา และขนย้ายของขึ้นที่สูง องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ไทรนำทรายมาให้ชาวบ้าน เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมในตัวบ้าน พร้อมสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กในหมู่บ้านชั่วคราว
สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปลายมาศ จ.นครราชสีมา ล่าสุด เหลือปริมาณน้ำอยู่เพียง 21 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 22 ของความจุ แต่ปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14 ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการสร้างเขื่อนเมื่อปี 29 หรือในรอบ 30 ปี สภาพเขื่อนเต็มไปด้วยสันดอน เนินดินที่เคยอยู่ใต้น้ำลึก และตอไม้ โผล่ขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้ต้องปรับแผนการส่งน้ำ งดส่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ 57,000 ไร่ สำรองน้ำที่เหลือไว้ใช้เพื่อการอุปโภค และรักษาระบบนิเวศ
หนองคายฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำลำห้วยหลวง ลำน้ำสาขาขนาดใหญ่ของแม่น้ำโขง มีปริมาณเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ต้องเร่งระบายลงในแม่น้ำโขง เนื่องจากระดับน้ำในลำห้วยโมงและลำห้วยหลวงสูงกว่าระดับน้ำโขงเกือบ 3 เมตร แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ส่วนอ่างเก็บน้ำหลักขนาดกลางหลายแห่งมีปริมาตรน้ำเกินความจุ จนต้องเร่งระบายเช่นกัน
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเกาะติดพายุเข้าทางตอนเหนือของประเทศ 31 สิงหาคม ถึง 1 กันยายนนี้ เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงท่วม-พิจารณาแผนระบาย เพื่อรับน้ำ ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประเมินฝนช่วงเดือนนี้ว่า ส่งผลแหล่งน้ำขนาดใหญ่เก็บกักน้ำได้กว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยลดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 30 จังหวัด แต่ยังลุ้นบางพื้นที่ที่ฝนยังไม่ตกตามเกณฑ์ เร่งประสาน 6 หน่วยประเมินน้ำต้นทุนคงเหลือเมื่อหมดฝน การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบก่อนประกาศแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งที่จะถึง
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ไทยมีฝนตกต่อเนื่องตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน จะส่งผลให้ทั่วทุกภาคฝนตกหนักและตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้.-สำนักข่าวไทย