ก.พลังงาน 20 ส.ค. – ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนเตรียมถอนฟ้องกระทรวงพลังงานที่ให้เพิกถอนแผนพีดีพี 2018 หลัง “สนธิรัตน์” สั่งให้รับฟังความเห็นรื้อแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและรับซื้อเร็วขึ้นจากเดิมไม่มีการรับซื้อใน 8 ปีแรกของแผน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการพลังงานทดแทนและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหารือร่วมกันในการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (2561-2580) หรือแผนพีดีพี 2018 โดยจะปรับสัดส่วนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และปรับแผนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเร็วขึ้น จากเดิมช่วง 8 ปีแรกของแผนไม่มีการรับซื้อ ยกเว้นการรับซื้อโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีการร่วมดำเนินการและเสนอแผนงานที่เหมาะสม แล้วนำมาประชุมกันในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลสมาชิกผู้ผลิตโรงไฟฟ้าจากขยะ ผู้ประกอบการโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม โดยเฉพาะสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทยเห็นว่าเมื่อภาครัฐมีการปรับแผนดังกล่าว จึงระบุเบื้องต้นว่าจะมีการถอนฟ้องศาลปกครอง จากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นฟ้องกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิกถอนแผนพีดีพี 2018 เพราะ ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นในช่วงจัดทำแผนพีดีพี 2018 เป็นไปอย่างไม่ถูกต้องส่งผลให้มีการลดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน และลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลงทั้งปริมาณและระยะเวลาการรับซื้อ ส่งผลให้สมาชิกสมาคมเกิดความเสียหาย
“เมื่อเกิดความเข้าใจกัน เอกชนก็พร้อมจะถอนฟ้องศาลปกครองที่ให้เพิกถอนแผนพีดีพี 2018 โดยการแก้ไข แผนพีดีพีนั้น รมว.พลังงาน ให้นโยบายว่าให้รับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับแผนงานร่วมกัน โดยเน้นย้ำให้เกิดประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างรายได้แก่ชุมชน” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า ตัวเลขพลังงานทดแทนแต่ละกลุ่มเชื้อเพลิง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ชีวภาพ จะเป็นอย่างไรนั้นให้เอกชนร่วมทำการบ้านร่วมกัน โดยสิ่งแรกที่จะดำเนินการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานชุมชน สร้างรายได้แก่ท้องถิ่น บนเงื่อนไขการจัดโซนนิ่งแต่ละพื้นที่มีเชื้อเพลิงที่เหมาะสมอย่างไร โดยให้ 3 การไฟฟ้าพิจารณาสายส่งว่ามีเพียงพอหรือไม่ และต้องปรับให้เหมาะสมอย่างไร เบื้องต้นจะเป็นการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดการผลิตและใช้ในชุมชนก่อนเป็นรูปแบบ SAND BOX และหากมีเหลือใช้ ก็ขายเข้าระบบ โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดูถึงอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อที่เหมาะสม ดังนั้น เป้าหมายของเชื้อเพลิงแต่ละประเภทก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิม เช่น แผนเดิมมีการซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ แผนเดิมไม่มีการส่งเสริมหญ้าเนเปียร์มาผลิตไฟฟ้า ในครั้งนี้ก็จะกลับมาทบทวนใหม่ตามนโยบายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เน้นให้ส่งเสริม “พลังงานบนดิน” หรือพืชพลังงาน เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
สำหรับแผนพีดีพี 2018 นั้น ตามแผนที่ประกาศใช้ในปัจจุบันสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วนร้อยละ 35 คือ พลังน้ำต่างประเทศ ร้อยละ 9 พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 20 การอนุรักษ์พลังงาน ร้อยละ 6 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือร้อยละ 12 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะสอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21 ณ ปี 2580 เท่ากับ 0.283 kgCO2/kWh หรือ 103,845 พันตัน. -สำนักข่าวไทย