นครราชสีมา 18 ส.ค. – รมช.พาณิชย์ปักหมุดนครชัยบุรินทร์ นำร่อง BCG โมเดล พร้อมเร่งพัฒนาต่อยอดสินค้า OTOP Select แฟรนไชส์และร้านโชห่วยเป็น smart โชห่วยสร้างความเข้มแข็งชุมชนดันสู่ตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับประธานหอการค้าและประธานกลุ่ม Biz Club กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ที่โรงแรมสีมาธานี โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัดอีสานตอนใต้อย่างมากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยได้พิจารณาคัดเลือกกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจพื้นฐานของภาคอีสาน และประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “นครชัยบุรินทร์ ประตูอีสานสู่สากล” หรือ NAKORN CHAI BURIN Northeast Gateway to Global Communities ยังจะเป็นพื้นที่นำร่อง Bio Circular Green หรือ BCG โมเดล ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีดำริให้กระทรวงต่าง ๆ พิจารณานำโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก
อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกันครั้งนี้เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของนครชัยบุรินทร์ โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรับโฉมร้านค้าโชหวยดั้งเดิมให้เป็น smart โชห่วย อีกทั้งยังจะส่งเสริมการค้าระบบแฟรนไชส์ และขยายตลาดสินค้า OTOP Select พร้อมทั้งจะเร่งให้จัดทำเส้นทางสายไหมในพื้นที่ 4 จังหวัด เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น พร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้ความร่วมมือของหอการค้าจังหวัดและ Biz Club ที่จะเป็นองค์กรเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับเอกชนในการสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว แต่จะสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนต่อยอดสินค้าชุมชนพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอนาคตแบบยั่งยืนได้ต่อไป
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มาแล้วจะเร่งแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการสร้างและขยายธุรกิจระบบแฟรนไชส์ทั้งระบบให้มีความเข้มแข็งทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กรมฯ ได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมผลักดันผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยให้สามารถขยายตลาดครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นด้วยการจัดอบรมดูงานเสริมความรู้ให้กับกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ขณะนี้มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจจากกรมฯ และดำเนินธุรกิจ 308 ธุรกิจ และสามารถขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ 32 ธุรกิจ ใน 32 ประเทศ ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น Greyhound, Black Canyon, Mango Tree, กาแฟดอยช้าง ประเภทธุรกิจการศึกษา เช่น Clay Works, Smart Brain เป็นต้น
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ซึ่งปี 2561 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท มีจำนวนสาขาธุรกิจรวมกันมากกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีอัตราเฉลี่ยการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559 – 2561) อยู่ที่ร้อยละ 15 ต่อปี และคาดว่าปี 2562 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 และนอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชน์ไทยแล้วเป้าหมายต่อไป คือ พัฒนาร้านค้าโชห่วยไทยให้เป็น smart โชห่วย โดยกำลังเร่งวางแนวทางที่จะเร่งพัฒนาปรับปรุงร้านโชห่วยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็น smart โชห่วยที่จะมีความสวยงามและทันสมัยให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่มากขึ้น โดยเร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวร้าน smart โชห่วยต้นแบบ.-สำนักข่าวไทย