กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – “สนธิรัตน์” เดินหน้าใช้พลังงานเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยลดค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเตรียมออกแคมเปญใหม่ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมันช่วยเอสเอ็มอี ตั้งเป้าหมายเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ปีหน้า เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเสร็จสิ้นปี 65
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยุคนี้เป็นพลังงานเป็นเรื่องของทุกคนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ใช้กลไกพลังงานทำหน้าที่ให้มากกว่าเดิม สร้างเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น กระทรวงฯ จึงดำเนินการหลายเรื่อง โดยในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าของรัฐบาลในการดำเนินการร่วมกัน โดยในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีแคมเปญด้านพลังงานมาช่วยเหลือ ซึ่งจะมีต้นทุนค่าพลังงานที่ต่ำ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซฯ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยกำลังปรับการช่วยเหลือ โดยนำส่วนที่ ปตท.ช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในส่วนของหาบเร่แผงลอย ที่มี 200,000 รายและในส่วนนี้เป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว 80,000 ราย มาปรับเป็นการช่วยเหลือในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งการดูแลจะครอบคลุมค่าบริการและระบบรถสาธารณะด้วย
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ทบทวนเรื่องแผนพลังงานทดแทน จากแผนเดิมในช่วง 8 ปีนี้ จะไม่มีการรับซื้อพลังงานทดแทน ซึ่งก็ให้ดูว่าทั้งระบบจะเดินหน้าอย่างไร โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟาพลังงานชุมชนที่จะเป็นรูปแบบรัฐและเอกชนร่วมมือลงทุนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดภาระการลงทุนในภาพรวมที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และยังเป็นไปตามแผนงานการส่งเสริมให้ชุมชนผลิตเองใช้เองเป็นหลัก และในกรณีการให้ บมจ.ปตท.พัฒนาโครงการปุ๋ยสั่งตัดและห้องเย็นผลไม้นั้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จก็ได้เสนอแนะให้ดึงสหกรณ์ต่าง ๆ มาร่วมงานด้วย
“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอาจเป็น 1 ชุมชน 1 พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ส่งเสริมเอสเอ็มอี ร่วมกับชุมชนสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละพื้นที่ อาทิ โซลาร์เซลล์ เชื่อว่าจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียน 20,000-30,000 ล้านบาท และยกระดับพืชพลังงาน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรกร เช่น ปาล์มน้ำมัน เป็นบี10 และบี20 เกิดการใช้ CPO 2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าในภูมิภาค” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน มองถึงภาพรวมการพัฒนาเชื่อมโยงอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานด้านพลังงาน ซึ่งการพัฒนาจะสร้างความสมดุลที่สมาชิกอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน และหนึ่งเป้าหมายที่จะพยายามเจรจาให้สำเร็จ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยจะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายร่วมของ 2 ประเทศ ภายในปี 2565
ขณะที่การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จะเร่งรัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินหน้าเปิดสำรวจรอบใหม่ตามแผนที่จะเปิดปี 2563 โดยตามแผนเดิมเตรียมเปิดไม่ต่ำกว่า 17 แปลง แบ่งเป็นการเปิดประมูลขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่แปลงในกลุ่ม A และ B ในอ่าวไทยรวม 10 แปลง และบนบกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง ภาคกลาง 2 แปลง ซึ่งจะเปิดเป็นรอบตามความเหมาะสมต่อไป .-สำนักข่าวไทย