อสมท 8 ส.ค.- รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ มองทางออกรัฐบาลกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ มีอยู่ 3 ทาง คือ ทางแรก ถือว่าได้มีการถวายสัตย์ฯ แล้ว ไม่ต้องทำอะไร ทางที่สอง รอกลไกต่างๆ ทำหน้าที่ จนอาจไปสิ้นสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ และทางที่สาม ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ และขอพระบรมราชานุญาตเข้าถวายสัตย์ฯ ใหม่ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย
- นายกฯ ขอรับผิดผู้เดียวปมถวายสัตย์ฯ
- วิษณุ ย้ำให้นายกฯ แก้ปัญหาเอง เพราะไม่รู้รายละเอียด
- โฆษกรัฐบาล ย้ำนายกฯ ไม่ลาออก ปมถวายสัตย์ฯ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ใน “ข่าวค่ำ” สำนักข่าวไทย ถึงทางออกกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี ระบุทางที่เป็นไปได้มากที่สุดมีอยู่ 2-3 ทาง คือ ทางแรก ถือว่าได้มีการถวายสัตย์ฯ แล้ว ไม่ต้องทำอะไร ถึงอาจไม่ครบถ้วน ก็ถือว่าได้ถวายสัตย์ฯ แล้ว ส่วนทางที่สอง รอกลไกต่างๆ ทำหน้าที่ เพราะได้มีการยื่นไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ท้ายที่สุดเรื่องอาจไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ก็จะถือเป็นที่สิ้นสุด ตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนทางที่สาม หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์จริง มีเงื่อนปมที่อาจต้องคลี่คลาย ทั้งนี้ การถวายสัตย์ฯ เป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน แล้วก็เป็นการบอกว่าตนเองจะปฏิบัติตามกฎหมาย ที่หายไปคือในส่วนหลังนี้ เมื่อไปดูองค์อำนาจของประเทศ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ระบุอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้น นั่นแปลว่าการถวายสัตย์ฯ มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 ประการ เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นว่าตนเองพูดไม่ครบ ก็ต้องขอโทษประชาชน และทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วอาจทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาตเข้าถวายสัตย์ฯ ใหม่ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย.-สำนักข่าวไทย