กรุงเทพฯ 24 ต.ค.-เสวนาหาทางออกครอบครัวไทย ขัดแย้งการเมือง ปมทุกข์ทั้งบ้าน เปิดใจรับฟังรักษาสัมพันธภาพครอบครัว ไม่ห้าม ไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้บ้านเป็นที่ปลอดภัย ด้านแพทย์แนะใช้ประเด็นการเมืองเป็นแบบฝึกหัด เปิดโอกาส พื้นที่ ผู้ใหญ่เด็กร่วมเรียนรู้ เคารพความเห็นต่าง
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดงานเสวนา “ทางออก…ครอบครัวไทยในวิกฤตการเมือง”
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสองฝ่าย ทั้งมุมพ่อแม่และมุมลูก แต่ไม่ควรใช้วิธีเถียงกันเรื่องของข้อมูลเพราะจะทำให้พังทั้งสองฝ่าย ต้องทำความเข้าใจว่า ต่างยุคต่างสมัย ต่างมีข้อมูลคนละชุด แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องคำนึงถึงความสัมพันธภาพครอบครัว สุดท้ายแล้วการเมืองจบแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังคงอยู่ ในบทบาทของความเป็นผู้ใหญ่นั้นต้องการให้ลูกเชื่อฟัง แต่เราต้องเปิดใจฟังลูกด้วย ฟังโดยไม่โต้แย้ง ต่อว่า แล้วพูดเสริมว่าพ่อแม่เป็นห่วงลูกที่ต้องไปร่วมชุมนุม พ่อแม่อาจเดินทางไปด้วยสักครั้งสองครั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นห่วง ซึ่งมีตัวอย่างของครอบครัวที่โทรเข้าปรึกษาบอกว่ารับฟังลูก 2 ชม.และลูกได้กล่าวขอบคุณพ่อแม่ที่รับฟัง บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น
นางฐาณิชชา กล่าวต่อว่า สำหรับพ่อแม่ ควรหาเพื่อนพูดคุยเพื่อปรับทุกข์ นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรใช้ความรุนแรง ห้ามปราม หรือตัดเงินไปโรงเรียน เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อเพื่อนแล้วจะไม่กลับบ้าน แต่ครอบครัวต้องทำให้เด็กรู้สึกว่ากลับบ้านแล้วปลอดภัย มีใครสักคนที่บ้านที่เขาไว้ใจ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจว่าทำไมไปชุมนุมแล้วไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกันเมื่อเด็กไปชุมนุมแล้วยังไปเรียนหนังสือ ที่น่าห่วงคือ บางครอบครัวลูกอยู่กับปู่ย่าตายายอาจจะคุยกันยาก แต่ก็ต้องพยายามรับฟังให้มากขึ้น
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า อยากให้พ่อแม่เปิดใจมองเห็นพลังของเด็กวัยรุ่นที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม สร้างการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นพลังความเชื่อในรูปแบบหนึ่ง ในมุมหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่เขาคิดวิเคราะห์ แล้วเกิดการลงมือลงแรงที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะฉะนั้นให้มองเป็นเรื่องที่มีแง่มุมดีๆ ซึ่งการรับฟังที่ดีไม่ใช่ฟังเพื่อการสั่งสอนแต่เป็นการรับฟังความต้องการและความรู้สึกที่เกิดขึ้น การที่กลุ่มเด็กลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เกิดคำถามว่าเขารู้สึกอึดอัดคับข้องใจ หรือว่ามีสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นเราอาจจะรับฟังความรู้สึกตรงนั้น
“อยากให้พ่อแม่ชวนให้เขาคิดชวนให้เขาเข้าใจ ชวนให้เขารู้สึกคิดถึงคุณค่าของความแตกต่างในสังคม เมื่ออยู่ในสังคมที่คิดแตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้ โดยเคารพความแตกต่างกัน ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากที่เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตไป นอกจากนี้ผู้ใหญ่ต้องให้พื้นที่เพื่อจะให้เด็กได้แสดงออก ซึ่งการได้ยินเสียงของเด็กถือว่าสำคัญมาก อย่างน้อยก็รู้ว่าเขากำลังคิดถึงอะไร แม้เราจะไม่เห็นด้วย บางอย่างมองว่าไม่ดี แต่การได้ลงมือทำในสิ่งที่เชื่อคือการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่งและเรียนรู้ด้วยการกระทำด้วยตัวเอง คือการเรียนรู้เพื่อช่วยในการเติบโต” พญ.จิราภรณ์ กล่าว
พญ.จิราภรณ์ กล่าวต่อว่า การที่พ่อแม่และลูกคิดแตกต่างกันถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดีมาก เพราะอนาคตก็อาจมีความคิดแตกต่างกันอีก ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือทำความเข้าใจและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ต้องระมัดระวังเพราะการที่ไปตัดสินหรือตีตรา จะทำให้ไม่เกิดการรับฟังจริงๆ ซึ่งคนที่เสียประโยชน์จากการตัดสินจากคำพูดเหล่านั้นคือตัวพ่อแม่ เมื่อไปตัดสินหรือตีตราใครเราแทบจะไม่ได้ฟังในเรื่องที่เขาสื่อออกมาจริง ๆเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรจะฝึกคุยกันให้ได้ เพื่อจะรับฟังความต้องการของกันและกัน ฝึกแชร์ข้อมูลที่เราได้มาหรือเรารู้ โดยไม่คาดหวังว่าเขาจะเชื่อ เพราะเราอาจมีความไม่พอใจถ้าเขาไม่เชื่อ
น.ส.ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ นักกระบวนกรการสื่อสารอย่างสันติ กล่าวว่า การสื่อสารอย่างสันติด้วยหัวใจ เปรียบเทียบง่ายๆ กับการสื่อสารด้วยสัญญาณไฟในใจของเรา 3 ระดับไฟเขียวคือ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ สนใจใคร่รู้ เปิดใจ ยอมรับ เข้าใจ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย บางคนกลัวเสียจุดยืนของตนเอง จริงๆควรกลับมาที่พื้นฐานของครอบครัวคือความรัก ระดับไฟเหลือง คือเมื่อเราเริ่มโกรธ เราควรหยุดรอ หยุดเพื่อคิดหาทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ซ้ำเติมให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าเป็นระดับไฟแดง เป็นระดับอันตราย มีโอกาสเกิดความรุนแรง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ต้องหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดึงไฟแดงกลับมาที่ไฟเขียว ไม่ว่าจะโกรธขนาดไหน เราต้องมีสติ อาจใช้วิธีใช้มือมาจับที่หัวใจ สัมผัสที่หัวใจรู้ตัวว่าโกรธ แล้วกลับมาที่พื้นฐานความรัก จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย