สุราษฎร์ธานี 6 ส.ค. – พาไปรู้จักกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำ ลำดับที่ 21 ของไทย ที่โดดเด่นด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งประสบความสำเร็จ และพร้อมเปิดให้ได้เรียนรู้
ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ป่าต้นน้ำ ชี้ให้ดูสภาพน้ำในคลองยัน ซึ่งวันนี้กลับมาใสสะอาด และมีพันธุ์ปลาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ หรือกว่า 20 ปีก่อน พวกเขาต้องประสบปัญหา ทั้งขาดน้ำในหน้าแล้ง น้ำหลากในฤดูฝน ป่าเสื่อมโทรม และน้ำเน่าเสียจากการขยายชุมชน พันธุ์ปลาสูญหายไป จนชุมชนเกือบล่มสลาย
วิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้าน 2 ฝั่ง ตลอดแนวลุ่มน้ำคลองยัน ทั้ง อ.วิภาวดี และ อ.คีรีรัฐนิคม ซึ่งพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ เริ่มตระหนักถึงปัญหา หันมารวมกลุ่มพลิกฟื้นผืนป่า และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เกิดเป็นกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน เกิดกิจกรรมต่อเนื่องมากมาย ทั้งการกำหนดเขตอภัยทานฟื้นฟูและรักษาพันธุ์ปลาของชุมชน การสร้างฝายชะลอและเก็บกักน้ำ เป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และเกิดเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยพิบัติ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้คนในชุมชนกว่า 80 กม. ตลอดลุ่มน้ำได้ปลอดภัย ทำให้ล่าสุดได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลำดับที่ 21 ของประเทศ
การบริหารจัดการน้ำของชาวบ้านที่นี่ เริ่มต้นจากภายในชุมชน โดยชาวบ้านเจ้าของพื้นที่พลิกวิกฤติปัญหาน้ำ จนทำให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน มีน้ำดื่ม น้ำใช้ เกิดแหล่งอาหารที่มั่นคง ช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งมีการประเมินแล้วว่ามีมูลค่าสูงถึงปีละนับร้อยล้านบาท. – สำนักข่าวไทย