ปักกิ่ง 3 ส.ค.-กรอบประชุมอาร์เซ็ปเริ่มแล้ว “จุรินทร์” เป็นประธานประชุมรัฐมนตรีการค้าอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ เจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ ย้ำพร้อมดันเจรจาให้จบสิ้นปีนี้ตามเป้า
ในเช้าวันนี้ (3 ส.ค.) นายหู ชุนหวา รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน( Hu Chunhua, Deputy Prime Minister of China) เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ทุกประเทศ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศรวมกับ ประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หลังจากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการประชุม ได้แจ้งเป้าหมายของเวทีการประชุมขอให้ทุกประเทศร่วมสนับสนุนข้อเสนอในการผลักดันเป้าหมายการเจรจาให้บรรลุความสำเร็จภายในสิ้นปีนี้
สำหรับข้อตกลงอาร์เซ็ป คือเป็นความตกลงฉบับล่าสุดที่มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสูงครอบลุมทุกมิติทางการค้ายุคใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้มแข็งและสร้างสภาวะแวดล้อมทางการค้าการลงทุนที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภูมิภาคหากความตกลงอาเซ็ปมีผลบังคับใช้จะกลายเป็นความตกลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะจะเห็นได้จากข้อมูลปี 2561 ที่เป็นข้อเท็จจริงว่าอาเซ็ป 16 ประเทศมี มูลค่าจีดีพีกว่า 27.3 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11 .4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็น ร้อยละ 30.9 ของมูลค่าการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยให้ความสำคัญกับข้อตกลงอาร์เซ็ปในการขับเคลื่อนหรือเป็นเครื่องมือการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตและมีการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติและเกิดการขยายเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้าของไทย ผู้ประกอบการไทยจะสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศในอาเซียนก็จะขยายเป็น 16 ประเทศรวมทั้งจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆระหว่างกันมากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนของไทยตลอดจนภูมิภาคด้วย และสินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเอไทยที่มีอยู่ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย