กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ เผย 2 นโยบายหลัก ชู “การตลาดนำการเกษตร” มุ่งขยายส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตรแปรรูป และน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ส่งเสริมเกษตรกร กำชับข้าราชการบูรณาการทำงานทั้งในกระทรวงและหน่วยงานภายนอก สู่เป้าหมายพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวไทย” ถึงนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ เป็นครั้งแรก โดยระบุว่า เตรียมแถลงนโยบายหลัก 2 ประการให้ข้าราชการทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครับทราบ โดยเป็นนโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา จึงถือว่ารัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารงานโดยสมบูรณ์ จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับนโยบายแรก คือ “การตลาดนำการเกษตร” ซึ่งเกิดจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยโดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ทั้งหมดเป็นความท้าทายสำหรับการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องรับสถานการณ์ให้ทัน เพื่อรักษาฐานการตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าการเกษตรสร้างรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล หากศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกลดลงจะส่งกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างแน่นอน
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นโยบายการตลาดนำการเกษตรสอดคล้องกับนโยบายหลัก 12 ด้านที่รัฐบาลแถลงไว้และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะนำมากำหนดแผนดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ข้าราชการทุกหน่วยงานปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกัน นอกเหนือจากสินค้าเกษตรที่ส่งออกปัจจุบันแล้ว ยังมีช่องทางเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เช่น ขมิ้นสด สหรัฐต้องการนำเข้าเกือบ 10,000 ตันต่อปี 240 ตันต่อปีเพื่อใช้บริโภคและผลิตยา แต่ปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐเพียง 60 ตันต่อปีเท่านั้น จึงเป็นพืชทางเลือกให้เกษตรกรไทยในอนาคตได้ ส่วนจีนต้องการสินค้าประมงโดยเฉพาะกุ้งต้มสุกแช่แข็ง รวมถึงมะพร้าวน้ำหอมและสับปะรดภูแล สำหรับออสเตรเลียต้องการนำเข้าเป็ดปรุงสุก ตลอดจนแสวงหาตลาดใหม่ในเขตสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEU) ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และ คาซัคสถาน จากนี้ไปการขยายตลาดสินค้าเกษตรในเวทีโลกไม่สามารถแข่งขันกันด้วยปริมาณการค้าในรูปแบบเดิมได้แล้ว แต่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่ระบุว่าต้องมุ่งเน้นความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ
“เมื่อทราบความต้องการของตลาดโลก จึงนำมาวางแผนให้เกษตรกรผลิต ทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง เพราะมีตลาดรองรับแน่นอน นอกจากนี้ ยังกำชับให้เร่งสร้างการรับรู้ถึงคุณภาพสินค้าเกษตรไทยต่อตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มความต้องการ (Demand) ผ่าน Digital Platform รวมทั้งการจัดทำพิธีสารมาตรการการส่งออกกับประเทศคู่ค้าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นโยบายสำคัญอีกประการ คือ เผยแพร่ศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ไปสู่เกษตรกรให้น้อมนำไปปฏิบัติ ตลอนจนเผยแพร่สู่องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา หมู่เกาะแปซิฟิก โดยเป็นไปตามนโนบายหลักของรัฐบาลด้านที่ 4 คือ การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลกให้ไทยมีบทบาทนำการพัฒนาและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ด้านการปฏิบัติงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จากนี้ไปต้องบูรณาการการทำงานทั้งในและนอกกระทรวงฯ เพื่อประสานนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ล่าสุดหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เบื้องต้นที่จะกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ อีกทั้งได้เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนแผนงานด้านการเกษตรในต่างประเทศ” ให้แก่อัครราชทูต อัครราชทูตที่ปรึกษา และกงสุลทั้ง11 แห่ง เพื่อหาแนวทางขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ โดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ คือ การส่งเสริมภาคการเกษตรไทยให้เข้มแข็งจะส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
รมว.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตร การตลาดนำการเกษตร โดยเฉพาะเร่งด่วน คือ ยางพาราที่จะลงนามร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทางถนน เช่น แนวกั้นทางโค้ง กรวยยาง แผงกั้นถนน (Barriers) เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ เพิ่ม demands ลด supplies
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเจรจาร่วมกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยเฉพาะอินโดนีเซียเป็นประเทศส่งออกยางพารา เพื่อหาแนวทางยกระดับราคายางพาราภายใต้กรอบความความร่วมมือของ ITRC.-สำนักข่าวไทย