กทม. 30 ก.ค. – เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ให้ กฟผ.ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี หลังเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดวิกฤติน้ำโขงแห้ง
คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยให้ กฟผ.ระงับหรือชะลอการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ก่อนมีคำพิพากษาในคดีที่ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ อาทิ กฟผ. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเผยแพร่ข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น และการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน หลังเกิดวิกฤติน้ำโขงแห้ง ทำให้ประชาชนริมโขงทั้ง 8 จังหวัดเดือดร้อน ซึ่งเชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากการทดลองผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำโขงผันผวนและลดลงอย่างรวดเร็ว แม้เจ้าของโครงการยืนยันยกระดับน้ำเหนือเขื่อนไว้เพียง 275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจะปล่อยให้น้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า ไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงอย่างกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ การทำประมง และระบบประปาที่ใช้น้ำจากแม่น้ำโขง
อีกทั้งเมื่อเดือนมกราคม 2562 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้ศึกษาทบทวนการปรับแบบโครงการเขื่อนไซยะบุรี ระบุชัดแม้โครงการนี้จะบริหารจัดการน้ำแบบ Run of River หรือฝายทดน้ำ แต่ด้วยขนาดของโครงการแล้วเรียกว่าเป็นเขื่อนที่มีการกักเก็บน้ำปริมาณมาก สัญญาสัมปทานและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กับ กฟผ. จึงมีผลกระทบอย่างมากกับประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อน
เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง จากแผนการก่อสร้างทั้งหมด 11 โครงการ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในไซยะบุรี สปป ลาว ห่างจากหลวงพระบาง ประมาณ 80 กิโลเมตร และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กิโลเมตร ลงทุนก่อสร้างโดยเอกชนรายใหญ่ของไทย มีธนาคารไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 1,220 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป. – สำนักข่าวไทย