กรุงเทพฯ 24 ก.ค.-ผลศึกษาทางวิชาการพบว่า ไทยมีสิทธิคว้าโอกาสผลักดันมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ25 หรือ มูลค่าได้ถึง 112.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หาก RCEP มีการเปิดเสรีทางการค้า
Prof. Ludo Cuyvers ศาสตราจารย์อาคันตุกะ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศูนย์การศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป (University of Antwerp) ประเทศเบลเยี่ยม เปิดเผยข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลประโยชน์และศักยภาพการส่งออกของประเทศไทย (The Benefits of Full Trade Liberalization and Accessibility in RCEP for Thailand’s Export Potentials) ว่ามูลค่าการส่งออกของประเทศไทย สามารถผลักดันให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้กว่า ร้อยละ 25 หากประเทศไทยได้รับโอกาสในการเปิดเสรีเศรษฐกิจ และมีนโยบายการเลิกกีดกันทางการค้าโดยสิ้นเชิงภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)
‘RCEP’ เป็นกรอบความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศอันประกอบด้วยประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องว่ารวมกันแล้วเท่ากับราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากโครงการวิจัย เพื่อการศึกษาด้านเศรษฐกิจและการส่งออกของ Prof. Cuyvers ชื่อว่า The Benefits of Full Trade Liberalization and Accessibility in RCEP for Thailand’s Export Potentials พบว่า ในสภาวะทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ จะส่งผลให้ประเทศนั้นสามารถเข้าถึงตลาดทางการค้าของแต่ละฝ่ายได้อย่างเต็มที่ รวมถึงประเทศไทยที่จะมีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ25 หรือประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 112.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากการศึกษานี้ได้ ใช้ระเบียบการวิจัยที่เรียกว่า “แบบจำลองสนับสนุนการตัดสินใจ” หรือ Decision Support Model (DSM) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะเพื่อช่วยในการคัดสรรตลาดส่งออกสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยในการวางแผนและประเมินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกได้ แบบจำลองนี้ประกอบด้วย “ตัวกรอง” ที่เป็นระบบขั้นตอน เพื่อช่วยในการคัดเลือกการจัดคู่ประเทศและผลิตภัณฑ์ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าน่าจะก่อให้เกิด “โอกาสการส่งออกที่เป็นจริง” หรือ “realistic export opportunities (REOs)” ให้กับประเทศผู้ส่งออก จากการวิเคาระห์ด้วยระบบตัวกรองดังกล่าว ซึ่งจะรวมถึงปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง, ความเสี่ยงทางการค้า, ขนาดและความเติบโตของการนำเข้า, เครื่องมือกีดกันทางการค้า และส่วนแบ่งในตลาด เป็นต้น
ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคจากธนาคารโลก และข้อมูลการนำเข้าของแต่ละประเทศจากฐานข้อมูล 2017 CEPII BACI เป็นข้อมูลบรรทัดฐานในการวิเคราะห์ (CEPII BACI เป็นฐานข้อมูลการค้าโลกที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการค้าโลก CEPII ในฝรั่งเศส โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยจัดทำสถิติขององค์การสหประชาชาติ) พบว่าค่า REOs หรือโอกาสการส่งออกที่เป็นจริง และศักยภาพการส่งออกของประเทศนั้นๆ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำมาคำนวณภายใต้แบบจำลองของการเปิดเศรษฐกิจเสรีและการเข้าถึงอย่างเต็มที่ ผลที่ได้นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลบรรทัดฐานข้างต้นและเมื่อมีการตัดปัจจัยสิ่งกีดกันทางการค้าทั้งหลายที่อยู่
ภายใต้ RCEP ผลปรากฏว่า REOs “ที่น่าสนใจที่สุด”และเพิ่มมากสุด คือ ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศสมาชิกอื่น เช่น ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศไทยกก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ไทยจึงควรใส่ใจกับ REOs ในกลุ่มประเทศ RCEP ที่มีโอกาสสร้างรายได้การส่งออกที่สูง
ปัจจุบันปริมาณการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่ม RCEP เท่ากับร้อยละ 58.7 ของศักยภาพการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และพบว่า ประเทศจีนเสนอศักยภาพสูงในแง่ของมูลค่าและจำนวน REOs ซึ่งประเทศจีน เป็นประเทศเดียวที่มี REOs ถึง 477 หน่วย เมื่อคำนวณแล้วเทียบเท่าศักยภาพการส่งออกถึง 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกไปจีนเพียงร้อยละ 59.4 ของศักยภาพการส่งออกเท่านั้น จึงดูเหมือนว่ายังมีช่องทางให้ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าไปจีนได้อีกมาก
สำหรับ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มี REOs มาก และมูลค่าของศักยภาพการส่งออกที่เป็นจริงสูง 5 กลุ่มแรก ประกอบด้วย 1. กลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือไฟฟ้า เครื่องบันทึกและผลิตภาพและเสียง และชิ้นส่วน, 2. กลุ่มแร่เชื้อเพลิง น้ำมันและผลิตภัณฑ์จากการกลั่น, 3.กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ พร้อมเครื่องจักรและชิ้นส่วน, 4. กลุ่มพลาสติกและเครื่องใช้ที่ทำจากพลาสติก, 5. กลุ่มยานพาหนะ (ไม่รวมตู้รถไฟหรือรถราง) และชิ้นส่วนและเครื่องตกแต่ง
“การเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์นั้นในความเป็นจริงคงไม่เกิดขึ้น เพราะแม้จะมีการลดภาษีจนเหลือศูนย์ ก็ยังมีสิ่งกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่รูปแบบภาษีอยู่ (non-tariff barriers) เช่น มาตรฐานสินค้า ขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร เป็นต้น แม้กระทั่งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์หรือระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันของแต่ละประเทศก็สามารถทำให้การเข้าถึงแต่ละตลาดเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นได้เช่นกัน” Prof. Ludo Cuyvers ระบุ-สำนักข่าวไทย