กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – คมนาคมนัดแถลงข่าวใหญ่ 30 ก.ค.นี้ ฟันธงลดราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ รถไฟฟ้า ช่วยค่าครองชีพประชาชน ทุกหน่วยงานอุบเงียบเร่งทำแผนเสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบภารกิจกำกับดูแลหรือจัดเก็บค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อหาแนวทางในการปรับลดค่าโดยสาร ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยจะสรุปแผนทุกมาตรการหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
โดยในส่วนของค่าโดยสารรถสาธารณะนั้น การปรับขึ้นหรือลดราคาค่าโดยสารเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เรื่องนี้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เปิดเผยว่า แนวทางการปรับลดค่าโดยสารวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สรุปแผนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อย และจำเป็นต้องใช้อำนาจของคณะกรรมการเพื่ออนุมัติการปรับลดราคา ในส่วนนี้คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะนัดประชุมด่วน เพื่อพิจารณาวาระดังกล่าวทันที
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ในส่วนของ ขสมก.อยู่ระหว่างจัดทำแผนที่มีลักษณะเป็นข้อหารือและทางเลือก 2-3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในเรื่องแนวทางปรับลดค่าโดยสาร โดยข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมจากข้อมูลที่ ขสมก.มีทั้งฐานจำนวนผู้ใช้รถเมล์แต่ละวัน ,ค่าโดยสารที่เก็บได้ทั้งหมด, ต้นทุนการเดินรถ เพื่อนำมาประมวลเป็นทางเลือกว่าการดำเนินการลดราคาทางใด มีผลดีและผลกระทบอย่างไร หากกระทรวงคมนาคมเคาะสรุปแนวทางใด ขสมก.พร้อมปฎิบัติตามนโยบาย
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ในส่วน บขส. ซึ่งการปรับลดค่าโดยสารจะทำผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง หากคณะกรรมการฯ สรุปว่าให้ปรับลดราคาเท่าใด บขส.พร้อมดำเนินการเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนประเด็นปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางรางกำลังศึกษารายละเอียดในการปรับลดค่าโดยสารอยู่ โดยแนวทางการปรับลดค่าโดยสารก่อนหน้านี้ มี 2-3 แนวทาง คือ 1.การใช้ภาษีท้องถิ่น ที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บ หรือภาษีต่อทะเบียนป้ายวงกลมของผู้ใช้รถ เอามาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยตรง เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น 2. แนวทางในการจัดตั้งกองทุนและหาที่มาของแหล่งเงินเข้ากองทุน เช่น การนำรายได้ที่เกิดจากการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามาจ่ายชดเชยค่าโดยสารให้แก่เอกชนผ่านกองทุนดังกล่าว เพื่อให้สามารถปรับลดค่าโดยสารลงได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีประเด็นเผยแพร่ว่าจะมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าออกไปสู่สาธารณะ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินภาษีมาอุดหนุนชดเชยเพื่อลดค่ารถไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการนำเงินภาษีของผู้ที่ไม่ได้ใช้ระบบรถไฟฟ้าเข้าไปจ่ายชดเชยด้วย ซึ่งอาจเกิดความไม่เป็นธรรม โดยท้ายที่สุดต้องไปติดตามว่ากรมการขนส่งทางรางและกระทรวงคมนาคมจะตัดสินใจเลือกแนวทางใด จัดการให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง.-สำนักข่าวไทย