นนทบุรี 22 ก.ค. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาดึงช้อปปี้ ลาซาด้า เฟซบุ๊ก กูเกิล และยูทูป ร่วมต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต
นายดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G หรือ 5G ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงผู้ใช้อย่างกว้างขวาง และอุปกรณ์สื่อสารที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยสร้างโอกาสและสร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาล แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมก็สร้างความเสียหายได้อย่างรวดเร็วและป้องกันได้ยาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรับเปลี่ยนจากการวางขายสินค้าละเมิดในท้องตลาดเป็นการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการขายสินค้าละเมิดทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทั้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและประชาชนผู้บริโภค
นายดิเรก กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตัวแทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วมเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้บริหารเว็บไซต์ชั้นนำทั้งในส่วนที่เป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าที่คนไทยรู้จักกันทั่วไป อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างเฟซบุ๊ก และเสิร์ชเอนจิน ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก อย่างกูเกิลและยูทูป เข้าร่วมในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
ทั้งนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตัวแทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และเว็บไซต์ชั้นนำต่าง ๆ ได้มาพบหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต โดยเว็บไซต์ชั้นนำต่างได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้คำแนะนำเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาถึงแนวทางดำเนินการ เพื่อป้องปรามการละเมิดบนแพลตฟอร์มของตน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น
“ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตควรเคารพสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และไม่สนับสนุนการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายและระบบการค้าที่เป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และเพื่อปกป้องสิทธิ์ของทั้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและประชาชนผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน” นายดิเรก กล่าว.-สำนักข่าวไทย