กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – ดีป้าหารือกรมสรรพากรขอต่ออายุลดภาษี 200% อีก 3 ปี สำหรับเอสเอ็มอีที่ซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้า
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยกับต่างประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้สอดคล้องความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย
โดยผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดีกว่าต่างประเทศ ทั้งระยะเวลาการยกเว้นภาษีและอัตราการลดหย่อนภาษี สะท้อนถึงมาตรการทางภาษีของไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนค่อนข้างสูง แต่มีหลายมาตรการที่ไทยยังไม่ได้นำมาใช้ เช่น การให้เครดิตภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา การยกเว้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและค่าเช่า เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้เสนอ 4 ประเด็นสำคัญในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ประกอบด้วย 1.การสร้างอุปสงค์ที่เพียงพอในการชักจูงการลงทุน 2.ดำเนินการศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวระบบดิจิทัล 3.สนามทดสอบธุรกิจดิจิทัล และ 4.จัดทำกองทุนร่วมทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อการดึงดูดการลงทุนระดับพื้นที่
ขณะเดียวกันได้มีการหารือกับกรมสรรพากร เพื่อขอต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี 200% สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้าตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะขอต่ออายุมาตรการออกไปอีก 3 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดมาตรการสิ้นปีนี้ไปเป็นสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และขอเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีจาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าของวงเงินที่เอื้อให้กับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันและขอขยายขอบเขตมาตรการจากเดิมครอบคลุมเฉพาะซอฟต์แวร์ให้เป็นครอบคลุมใน 3 สาขาหลัก ประกอบด้วย ซอฟต์แวร์, ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล
โดยยอมรับว่าการใช้มาตรการดังกล่าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนมากกว่า 140 ราย กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กว่า 1,300 ล้านบาท และแม้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีมากกว่า 567 ล้านบาท แต่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการใช้เทคโนโลยีและการลงทุนปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทอลเพิ่มขึ้นกว่า 3,158 ล้านบาท และคาดว่าการต่ออายุมาตรการและขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่เสนอจะทำให้รัฐได้ผลตอบแทนกลับคืนมากกว่าเดิมถึง 6 เท่าตัว.-สำนักข่าวไทย