กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – ทีดีอาร์ไอ มาแล้ว !!! รับราคารถไฟฟ้าเที่ยวละ 30 บาท กำลังดี ฟันธง 15 บาทแรงไป ภาครัฐต้องชดเชยให้เอกชนอ่วม ขณะที่ผู้ว่าฯ รฟม. ระบุรอนโยบายชัดเจนของกระทรวงคมนาคมเพื่อเป็นกรอบเจรจาคู่สัมปทาน
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงประเด็นแก้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง และมีการพูดถึงตัวเลขราคา 15 บาทตลอดสาย ในส่วนของทีดีอาร์ไอเห็นว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม จำเป็นต้องศึกษาจากองค์ประกอบรอบด้าน เช่น ฐานรายได้ต่อเดือนของผู้ใช้บริการ รายละเอียดของโครงข่ายเส้นทาง และอื่น ๆ
ยกตัวอย่าง เช่น ฐานข้อมูลในต่างประเทศ ต้นทุนค่าเดินทางในระบบรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายต่อเดือน สิงคโปร์ ค่าเดินทางจะอยู่ที่ 4-5 % โดยในส่วนของคนไทยนั้นข้อมูลเบื้องต้นค่าโดยสารเดินทางไปกลับต่อวันของรถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 100 บาท เมื่อวางเป็นโจทย์แล้ว มาคิดต่อว่า ถ้าค่าเฉลี่ยของรถไฟฟ้าเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ 30 บาท หรือไปกลับวันละไม่เกิน 60 บาท ประชาชนที่มีฐานเงินเดือนประมาณเดือนละ 18,000 บาท มีต้นทุนค่าโดยสารต่อเดือนประมาณ 1,200 บาท ถือเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้บริการจะพอแบกรับไหว
“ประเมินเบื้องต้นว่าค่าเดินทางระบบรถไฟฟ้าทั้งโครงข่าย 30 บาทต่อเที่ยว ถือเป็นราคาที่เหมาะสม” นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ต้องนำไปสู่การชดเชยให้กับเอกชนผู้ถือสัมปทานนั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอยู่ในพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป ส่วนประเด็นว่าหากมีการกำหนดกรอบค่าโดยสารไม่ว่าจะเป็น 15 บาทต่อเที่ยว หรือ 30 บาทต่อเที่ยว ในส่วนสัมปทานเดินรถไฟฟ้าที่ภาครัฐกับเอกชนมีในปัจจุบันจะต้องจ่ายชดเชยมากแค่ไหนนั้น
“อย่างกรณีกำหนดค่าโดยสารต่อเที่ยว 15 บาทนั้น คิดง่าย ๆ ว่าหากคำนวณจากผู้โดยสาร เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสวันละ 800,000 คน รถไฟฟ้าใต้ดิน 300,000 คน รถไฟฟ้าสีม่วงอีก 100,000 คน แอร์พอร์ตลิ้งค์ 100,000 คน ไปคำนวณกับค่าโดยสารเฉลี่ยของผู้โดยสารปัจจุบันคนละ 30 บาท เห็นชัดเจนว่าจะต้องไปชดเชยให้แก่การเดินทางของประชาชนเฉลี่ยคนละ 15 บาทต่อวัน ส่วนนี้ถือว่าเป็นภาระค่อนข้างหนัก” นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องศึกษาในรายละเอียด เช่น การนำระบบตั๋วพิเศษ เช่น ตั๋วรายสัปดาห์ ตั๋วเดือน มาเป็นกลไกช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การปรับลดค่าโดยสาร ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากขึ้นก็จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างที่อยู่อาศัยภายในเมืองตามแนวรถไฟฟ้าด้วย
ขณะที่ประเด็นกรมการขนส่งทางรางมีการศึกษาว่าการชดเชยต้นทุนค่าเดินทางให้แก่ประชาชนนั้นจะดำเนินการลักษณะนำเงินภาษีท้องถิ่น หรือมีการตั้งกองทุน แบบใดจึงจะเหมาะสม ถือว่าเป็นเรื่องต้องไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมด้วย
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. จะรอความชัดเจนนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการ เนื่องจากสัญญาสัมปทานในอดีต เช่น โครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน หัวลำโพง-เตาปูน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ถือสัมปทาน รวมถึงอยู่ระหว่างก่อสร้างซึ่งลงนามไปแล้ว ทั้งรถไฟฟ้าสีชมพู มีนบุรี-แคราย และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง หากภาครัฐมีนโยบายกำหนดกรอบเก็บค่าโดยสารไม่เกินราคาที่กำหนด 15 บาท หรือเท่าใดก็แล้วแต่ ก็ต้องนำไปเป็นประเด็นที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัมปทาน เพราะเป็นเรื่องปกติ เมื่อรายได้เอกชนลดลงจะมีการถามหาแนวทางที่ภาครัฐชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการแน่นอน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าเมื่อกระทรวงคมนาคมให้นโยบายชัดแล้วก็พร้อมเจรจากับผู้ประกอบการ ส่วนจะได้ข้อสรุปอย่างไร คงต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่จะมีเสนอมาด้วย .-สำนักข่าวไทย