ภูมิภาค 13 ก.ค. – จากภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ 240 อำเภอใน 36 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เตรียมเร่งพิจารณาปัญหาดังกล่าว
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ฝนขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาดการณ์ที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า มีปริมาณฝนลดลง ส่งผลให้ 240 อำเภอใน 36 จังหวัด ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานเสี่ยงขาดน้ำ ดังนั้นจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ทั่วประเทศใหม่ ภายในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ โดยจะคาดการณ์ปริมาณน้ำจากช่วงฤดูฝนที่เหลืออยู่ ซึ่งจะมีระยะเวลาถึงสิ้นเดือนตุลาคมโดยประมาณ ทั้งนี้เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแต่ละเขื่อน เบื้องต้นในวันจันทร์นี้ สทนช.ภาค 3 ซึ่งรับผิดชอบภาคอีสานจะประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้สำหรับภาพรวมแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่า มีเพียงภาคตะวันตกและภาคใต้ ทีมีปริมาณน้ำเกินกว่าร้อยละ 50 คือภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 59 นอกจากนั้นภาคอื่นมีปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 40 โดยภาคกลางมีปริมาณน้ำเฉลี่ยต่ำสุดเพียงร้อยละ 21
เบื้องต้นสำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นจะปรับแผนการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกและปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ควบคู่กับการทำฝนหลวง
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวสำรวจภาพรวมเขื่อนขนาดใหญ่ พบมีปริมาณน้ำน้อย เช่น ที่ขอนแก่น นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 (ขอนแก่น) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 583.19 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23.99 ของความจุอ่าง
ส่วนเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 568.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28.73 ของความจุอ่าง เช่นกัน ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำ 49.88 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30.46 ของความจุอ่าง จากปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนที่เหลือค่อนข้างน้อยในขณะนี้จึงแนะนำชาวนาให้ชะลอการทำนาออกไปก่อน เพราะตามคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา ฝนจะตกประมาณต้นเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากฝนทิ้งช่วงทำให้สภาพลำน้ำลำตะคอง แม่น้ำสายหลักของนครราชสีมามีน้ำน้อยไปด้วย โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านตัวเมือง ซึ่งมีสภาพตื้นเขิน น้ำน้อยจนขุ่นมัว มีวัชพืชขึ้นปกคลุมรกทึบ ประกอบกับมีขยะสิ่งปฏิกูลจำนวนมาก จึงพบซากปลาตายลอยเกาะกันเป็นแพหนาแน่น โดยเฉพาะปลาช็อกเกอร์ ปลานิล ปลาช่อน และปลาขาวนับพันตัว ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ
ลุงสมาน ดอกพิกุล อายุ 73 ปี บอกว่า อาศัยอยู่ชุมชนริมลำตะคองมานานกว่า 30 ปี พบเห็นสภาพน้ำลำตะคองปีนี้ย่ำแย่หนัก น้ำขุ่นมัว สกปรก และเน่าเหม็นมาก คาดว่าอาจะเกิดจากปัญหาสภาพน้ำน้อยจากภัยแล้ง รวมถึงการลักลอบปล่อยสารเคมีอันตรายลงในน้ำ .- สำนักข่าวไทย