ขอนแก่น 4 ก.ย. – จ.ขอนแก่น กำลังประสบวิกฤติภัยแล้งรุนแรง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนทิ้งช่วง นาข้าวเริ่มขาดน้ำและแห้งตาย
จ.ขอนแก่น ประสบวิกฤติภัยแล้งรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนทิ้งช่วง นาข้าวเริ่มขาดน้ำและแห้งตาย ชาวนาบ้านหนองหอย ต.จระเข้ อ.หนองเรือ ต้องนำเครื่องตัดหญ้ามาตัดต้นข้าวในนากว่า 3 ไร่ เพื่อรอฝนที่จะตกลงมาเติมน้ำในนา ต้นข้าวที่ตัดไว้ถึงจะงอกและเติบโต หลังจากที่ได้ปักดำต้นกล้ามาเดือนกว่า แต่ต้องประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในนาเริ่มแห้งขอด ต้นข้าวขาดน้ำ และเริ่มแห้งตายบางส่วน หากไม่มีฝนตกลงมาในอีก 1 สัปดาห์ คาดว่าผลผลิตจะเสียหายทั้งหมด
ขณะที่นายอำเภอหนองเรือ ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้คาดว่าจะรุนแรง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ นาข้าวหลายพื้นที่เริ่มขาดน้ำและแห้งตาย ลำห้วย ลำน้ำสาขา ก็แห้งขอด เพราะไม่มีน้ำฝนมาเติม อีกทั้งเกษตรกรก็สูบน้ำไปช่วยเลี้ยงต้นข้าวในนา ขณะนี้ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ เร่งสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ตามลำน้ำสำคัญ จำนวน 3 ตัว ในพื้นที่ 3 ตำบล เพื่อกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้ใช้ในปีนี้ และเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ในปีหน้า
ด้านผู้ว่าฯ ขอนแก่น เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ โดยที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้มีปริมาณกักเก็บอยู่ที่ 870 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้ง 14 แห่ง ปริมาณกักเก็บถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดเดือนกันยายนนี้จะมีฝนตกเพียง 18 วัน และปรากฏการณ์เอลนีโญจะยาวนานจนถึงกลางปี 2567 หากไม่มีฝนมาเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จะส่งผลกระทบกับประชาชนทุกภาคส่วน ถึงขั้นวิกฤติที่ต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ผลิตน้ำประปา จึงสั่งการให้ทุกอำเภอเร่งทำฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ บรรเทาภัยแล้ง
น้ำโขงลด เร่งแจกพันธุ์ข้าวชดเชยพื้นที่เสียหาย
ส่วนที่ จ.นครพนม น้ำโขงลดลงมาก ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6 เมตร ห่างจุดล้นตลิ่ง 6 เมตร คือที่ 12 เมตร ส่งผลดีต่อลำน้ำสาขา ระบายเร็ว ลดปัญหาเอ่อท่วมพื้นที่ นาข้าวเสียหายน้อยลง หน่วยงานเกษตรเร่งแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวชดเชยพื้นที่เสียหาย พบนาข้าวส่วนใหญ่ พื้นที่ลุ่มน้ำอูน ลุ่มน้ำสงคราม ยังถูกน้ำท่วมขังกว่า 80,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ทางชลประทานนครพนม ยังคงต้องบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำในระบบชลประทานลงน้ำโขงให้มากที่สุด เพื่อให้อยู่ในระดับเหมาะสม และเตรียมพร้อมเก็บกักน้ำไว้รับมือภัยแล้ง. – สำนักข่าวไทย