กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ ก.ค.ขยับขึ้นต่อเนื่อง กังวลความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ติดตามสัญญาณดอกเบี้ยเฟด
นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน จากระดับ 52.60 จุด มาอยู่ที่ระดับ 56.20 จุด เพิ่มขึ้น 3.60 จุด หรือคิดเป็น 6.84% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น นักลงทุนคาดว่าน่าจะมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินบาท สถานการณ์สงครามการค้า และความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ตามลำดับ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 (ก.ค.-ก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2562 จากระดับ 47.79 จุด มาอยู่ที่ระดับ 58.18 จุด เพิ่มขึ้น 10.39 จุด หรือคิดเป็น 21.74% โดยดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มของราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยนักลงทุนคาดว่ามีปัจจัยมาจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เงินทุนไหลออกจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์สงครามการค้า ภาวะอัตราเงินเฟ้อ และการอ่อนค่าของเงินบาท ตามลำดับ
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2562 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมองดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,363 – 1,458 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 20,000-21,000 บาท ต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทยให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 30.24 – 31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การลงทุนในทองคำช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่าราคาทองคำในช่วงเดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะ Overbought กล่าวคือมีแรงซื้อมากเกินไป จนทำให้เกิดแรงเทขายกดดันราคาทองคำปรับตัวลดลง ทั้งนี้หากแรงเทขายไม่มากนัก และราคาทองคำเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 1,381 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้ จะทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น โดยคาดว่าราคาทองอาจทดสอบแนวต้านที่บริเวณ 1,439- 1,461 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป (อียู) กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่าจากการรายงานข่าวผู้แทนการค้าของสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูของสหรัฐมีขึ้นหลังจากสหรัฐและจีนกลับมาเปิดเจรจาทางการค้ากันอีกครั้ง 2.นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่านักลงทุนหวังจับสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงเกินคาดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีกำหนดแถลงนโยบายการเฟดรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการด้านการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และจากนั้นจะแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐเดือนกรกฎาคมนี้
3.สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่านักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านและสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำในอ่าวโอมาน ซึ่งสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน แต่อิหร่านปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และ 4.สถานการณ์การเมืองในอังกฤษ กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่าความคืบหน้าทางการเมืองอังกฤษนายบอริส จอห์นสัน กลายเป็นตัวเก็งอย่างชัดเจนที่จะมาแทนที่นางเทเรซา เมย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากการลงมติในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนายบอริสฯ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้นในการลงมติเลือกผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ.-สำนักข่าวไทย