กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีปีนี้โต 3.1% จากส่งออกและเศรษฐกิจโลกหดตัว มั่นใจหากจัดตั้งรัฐบาลสัปดาห์นี้จะช่วยดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 3.3% ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวเพียง 2.6% ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกติดลบ 5% ส่งผลให้ทั้งปีคาดการส่งออกจะติดลบ 1.6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.6% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงจาก 40.7 ล้านคน เหลือ 40.1 ล้านคน หรือขยายตัวเพียง 4.8% เท่านั้น ขณะที่บรรยากาศเศรษฐกิจที่ไม่ดีมาก ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัว 7% จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนพยุงเศรษฐกิจปีนี้ จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ย 5% หากย้อนไป 5 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 13% ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยมาจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 7% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าสูงมาก และที่ผ่านมาค่าเงินบาทถูกมองเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยในการลงทุน จึงมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะดำเนินนโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในปี 2562 แต่ ธปท.จะต้องดูแลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงการสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของค่าเงินบาท
ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่แน่นอนสูงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เชื่อว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หากมีการประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมาว่าจะสามารถดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเน้นกระตุ้นระยะสั้นและการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ ที่จะใช้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมองว่าเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ต้องมีเม็ดเงินอย่างน้อย 20,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าไปประมาณ 3 เดือน มองว่า อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อเม็ดเงินการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา แต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เพราะรัฐบาลยังสามารถใช้กรอบวงเงินเดิมจากงบประมาณปีปัจจุบัน เพื่อใช้ในการลงทุนและเบิกจ่ายได้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า . – สำนักข่าวไทย