สคบ.7 กค..-สคบ. ชี้แจง “กรณีอ้าง สคบ. เรียกรายเดือน 2 หมื่น ขายยาลดความอ้วน”ยืนยัน เจ้าหน้าที่ สคบ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ล่าสุด รู้ตัวคนอ้าง สคบ. เรียกเงินฯ แล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
จากกรณีข่าวแอบอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูง สคบ.เรียกรับเงินเดือนละ 20,000 บาท เพื่อการประกอบธุรกิจขายยาลดความอ้วน ที่ได้มีการลงพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหาข้อเท็จจริงและร่วมสอบสวนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจากการตรวจสอบพยานหลักฐาน การสอบสวนผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องจากกรณีดังกล่าว ทราบว่า ผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง สคบ. นั้น ที่จริงแล้วเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ซึ่งมีที่ทำการอยู่ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ชั้น 4 ซึ่งตรงกับที่ผู้ต้องหาให้การเมื่อถูกจับกุม “ขณะนี้ทราบชื่อและยศของนายตำรวจดังกล่าวแล้ว” หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะนำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป
โดย นางวสภัสสร สุลำนาจ ผู้ต้องหา อ้างว่าตัวผงยารวมไปถึงผลิตภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่อยู่ในชั้น 4 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคส่วนกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ที่จำเป็นต้องทำต่อก็เพราะลูกสาวซึ่งอดีตเป็นเภสัชกรได้ถูกถอนใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่คนนี้บอกว่าจะช่วยได้แต่ต้องแลกกับการขายยาลดน้ำหนักทางออนไลน์ และต้องส่งเงิน ให้เดือนละ 20,000 บาท ยืนยันว่าชี้หน้าได้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงได้ตัดสินใจทำ และทำต่อเนื่องมา นั้น
สคบ. ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ สคบ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนนั้น “ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ สคบ.”ส่วนการตรวจสอบและการออกใบอนุญาตให้ขายยา หรืออาหารเสริมทุกชนิด เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ ที่ทำการของ สคบ. ตั้งอยู่ ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยในกรณีดังกล่าว สคบ. จะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำความผิดที่แอบอ้าง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สคบ. เคยถูกแอบอ้างในลักษณะทำนองนี้มาหลายครั้ง เช่น แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สคบ. ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าไม่มีฉลากหรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าเหล็กเส้นไม่มีมาตรฐาน มอก. รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ละเมิดลิขสิทธิ์ในหลายๆ จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ อ่างทอง อยุธยา ระยอง ฯลฯ โดยมีการเรียกรับผลประโยชน์ในหลายรูปแบบ ทั้งการเรียกรับในขณะที่ลงพื้นที่จับกุมเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีหรือการเรียกรับผลประโยชน์เป็นรายเดือน โดยในทุกครั้งที่ สคบ. ได้รับแจ้งเบาะแส จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลทั้งภาพถ่าย ภาพจากกล้องวงจรปิด และข้อมูลจากการสอบสวนผู้ที่ถูกเรียกรีดไถ ส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยงานของผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ สคบ. เพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายแล้วทุกราย.-สำนักข่าวไทย