ทีโอที 27 มิ.ย.-สภารับทราบความคืบหน้าในการดำนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ หลังเลขาศสช.ยืนยันปฏิรูปประเทศจะเป็นไปตามแผนและเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด พร้อมรับข้อเสนอส.ส.ไปเสนอครม.และกก.ปฏิรูปแต่ละด้านเพื่อพิจารณาปรับปรุง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงบ่ายวันนี้ (27 มิ.ย.) มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้อภิปรายรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรทุก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2562)
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่ามี 3 หน่วยงานที่ควรถูกปฏิรูป แต่กลับไม่อยู่ในแผนปฏิรูป คือ กองทัพ ศาล และหัวหน้าคสช. และเห็นว่าแผนการปฏิรูปเป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหาร 2557 ที่เชื่อว่าจะไม่มีผลที่แตกต่างจากการตั้งคณะกรรมการศึกษาในแต่ละปัญหา ที่ผลการศึกษาไม่ถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สิ้นเปลืองเงินงบประมาณจากเบี้ยประชุม ขณะที่กรรมการที่ตั้งขึ้นเป็นบุคคลหน้าเดิม จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการปฏิรูป นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของ ส.ว. ต่อการปฏิรูปที่อยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีอำนาจติดตาม เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ ส.ส.มีอำนาจเพียงรับทราบรายงานทุก ๆ 3 เดือน เช่นเดียวกับการออกกฎหมายปฏิรูปที่มีช่องพิเศษ ให้อำนาจ ส.ว. พิจารณาร่วมกับ ส.ส. ทำให้คาดว่า เสียงของ ส.ว.ที่ลงมติจะไม่แตกต่างจากการเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมเห็นว่าการปฏิรูปคือข้ออ้างของคณะปฏิวัติที่อยากอยู่ต่อในอำนาจ
นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่อภิปรายมาอยากถามว่า มีช่องทางทางกฎหมายไหนที่เปิดช่องให้เลขาศสช. เพราะตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มาชี้แจง หรือมอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแทน ดังนั้นหากไม่ยืนยันชัดเจน ตนเกรงว่าที่อภิปรายมา 2 วัน จะเสียเวลาเปล่า
อย่างไรก็ตามนายศุภชัย โพธ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้ชี้แจงว่านายชวนได้วินิจฉัยแล้วจึงได้บรรจุระเบียบวาระนี้
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณส.ส.ที่แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์และจะช่วยติดตามสอดส่องการปฏิรูปเพื่อให้เป็นผลสำเร็จ เช่น กรณีที่จะยกเลิกการใช้สำเนาเอกสารต่าง ๆ รวมถึงบัตรประชาชน และจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้รับทราบและจะนำไปปรับปรุงต่อไป
สำหรับความก้าวหน้าในเรื่องการปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปนั้น นายทศพร กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติมาตรา 259 ว่าจะต้องดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี หลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลจึงเร่งประกาศใช้แผนปฏิรูปให้ทัน และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้แผนการปฏิรูปประเทศออกมาก่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปประเทศจะเป็นไปตามแผนและเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบางเรื่องสามารถทำได้ทันที แต่บางเรื่องต้องรอออกเป็นกฎหมายใหม่ เช่น รัฐบาลดิจิตอล ซึ่งอีก 3 เดือนข้างหน้าจะได้รายงานถึงความคืบหน้าของกฎหมายที่ออกมาตามแผนการปฏิรูป เช่นกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ กฎหมายขายฝาก กฎหมายป่าชุมชนไม้มีค่า ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะช่วยคลายล็อคให้การปฏิรูปเดินหน้าได้ ยอมรับว่าเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีการต่อต้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการชี้แจง ไม่มีการอภิปรายอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากรายงานนี้ ได้ใช้เวลาในการอภปรายกว่า 10 ชั่วโมง รวม 2 วันจึงถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรทุก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2562) .-สำนักข่าวไทย