กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – ส.อ.ท.เปิดตัวหน่วยรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ เพื่อให้การรับรอง การจัดการป่าไม้ในไทย เพิ่มความสะดวกนักธุรกิจไทยไม่ต้องออกไปขอการรับรองถึงต่างประเทศ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดตัวระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (TFCS) ของสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) หน่วยงานในสังกัด ส.อ.ท.ในฐานะหน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้รับประกาศนียบัตรระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทยหรือ Thailand Forest Certification Council: TFCC จากนายเบน กันเนเบิร์ค ผู้บริหาร The Program for the Endorsement of Forest Certification: PEFC
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทยได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของ PEFC ในฐานะหน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ (National Governing Body – NGB) ในปี 59 และสามารถผลักดันระบบการรับรองไม้เศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนและแหล่งที่มาถูกต้องตามกฎหมาย โดย TFCC ได้นำมาตรฐาน มอก. ที่ประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเทียบเคียงกับมาตรฐานของ PEFC และได้รับการเทียบเคียงมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 ที่ผ่านมา สอก. จึงให้บริการรับรองได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้จากนี้ไปการดำเนินการจัดการสวนป่าของไทยจะเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจไม้และเข้าสู่ตลาดโลกได้
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะกรรมการการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) กล่าวว่า ระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (TFCS) สามารถให้การรับรองที่เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล อันประกอบไปด้วย มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน FM : Forest Management Standard (มอก. 14061) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกร หรือผู้ปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจ และมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861) รวมถึงการรับรอง PEFC Chain of Custody (PEFC ST 2002) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไม้แปรรูป, ไม้ยางพารา, ไม้เพื่อพลังงาน,ไม้ประกอบ, เฟอร์นิเจอร์, ของเล่นเด็ก และไม้เพื่อการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งการรับรองทั้ง 2 มาตรฐานนี้ จะช่วยยืนยันได้ว่าไม้ต้นทางมาจากแหล่งใด เป็นไม้ที่ถูกต้อง ไม่ได้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศที่ต้องการมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้สามารถข้ามกำแพงการค้าไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ตลอดจนยุโรปได้ อันจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไม้ได้กว่าแสนล้านบาทต่อปี . – สำนักข่าวไทย