กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – สภาผู้ส่งออกหั่นเป้าส่งออกปีนี้ จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1 ระบุมีแนวโน้มติดลบ เตรียมทำแผนหารือกระทรวงพาณิชย์ปรับกลยุทธ์ส่งออก
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า ได้ปรับเป้าส่งออกปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 3 เหลือเพียงร้อยละ 1 และเป็นกรณีดีที่สุดของสถานการณ์ที่เป็นไปได้ แต่โอกาสส่งออกจะโตร้อยละ 0 หรือไม่โตเลย และมีแนวโน้มไปทางติดลบมีมากกว่า เพราะขณะนี้สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน แต่ทางปฏิบัติยังไม่ได้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจริง สหรัฐอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนจริง ๆ ปลายเดือนนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปจีนผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐ
สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือนเมษายนปีนี้ มีมูลค่า 18,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และหากรวม 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 80,543.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า สภาผู้ส่งออก มองว่า หากในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.) หากไทยสามารถทำยอดส่งออกได้เดือนละ 21,492.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 0.89 ทำให้ภาพรวมส่งออกทั้งปีโตร้อยละ 0 หรือไม่เติบโต แต่ถ้าต้องการให้การส่งออกปีนี้โตร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไทยจะต้องทำยอดส่งออกให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 22,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือการส่งออกแต่ละเดือนเพิ่มช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาเดือนละ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางสภาผู้ส่งออกจะทำแผนปฎิบัติการไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ต่อไป เพื่อปรับกลยุทธ์ส่งออกพิจารณาสินค้าที่มีศักยภาพและเจาะตลาด
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะสำคัญต่อรัฐบาลใหม่ในการรับมือกับอุปสรรคทางการค้า 7 ข้อ คือ 1.การเปิดตลาดการค้าใหม่และเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 2.ส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3.ยกระดับความพร้อมของบุคลากรให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบัน 4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ 5.สร้างเสถียรภาพด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน 6.ส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน และ 7.ปรับปรุงกฏหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย
