ราชบุรี 4 มิ.ย. – ชาวสวนทุเรียน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี แทบลมจับ หลังถูกกระรอกเจาะกินเนื้อในหล่นเกลื่อน ทำรายได้หดหายเกือบครึ่งแสนบาท ด้านเกษตรอำเภอแนะจับไปปล่อยป่าลึก และใช้ลวดตาข่ายล้อมลูกทุเรียนป้องกัน
นายโชคดี ตั้งจิตร รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี เข้าตรวจสอบสวนทุเรียนของนางยุพา มีมงคล อายุ 58 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ 1 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี หลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากกระรอกที่มากัดแทะเจาะกินผลทุเรียนบนต้นที่ปลูกมากว่า 18-20 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังแก่และใกล้สุกเตรียมตัดขายได้แล้ว แต่ต้องตกใจเมื่อเห็นผลทุเรียนที่หล่นอยู่ใต้ต้นแต่ละลูกมีลักษณะคล้ายเป็นรูปแว่นตา เป็นวง บริเวณพูทุเรียนมีร่องรอยฟันกัดแทะกินของกระรอก จนเป็นรูรอบลูก บางลูกที่อยู่บนต้นใกล้จะเก็บเกี่ยว ถูกกระรอกเจาะกัดกินเสียหาย บางต้นถูกเจาะกินไปนับสิบลูก ตกอยู่ใต้โคนต้น สร้างความหดหู่ใจให้กับเจ้าของสวนที่กำลังจะขายทุเรียนได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ต้องฝันสลาย เพราะเคยเก็บทุเรียนขายได้เงินปีละกว่า 100,000 บาท แต่กลับมาถูกกระรอกเจาะกินทำลายแทบหมดกำลังใจ
นางยุพา บอกว่า ปลูกทุเรียนไว้ 2 แปลง ประมาณ 19 ไร่ ผลผลิตปีนี้ไม่ดีเลย เจอปัญหาภัยแล้ง ทำให้ลูกทุเรียนที่มีน้ำหนักประมาณกิโลกรัมเศษหลุดร่วงหล่น ได้แต่ทำใจ เพราะเป็นภัยธรรมชาติ แต่ก็ยังเจอปัญหาภัยจากศัตรูอย่างกระรอกมาเจาะกินทุเรียนซ้ำอีก ปีนี้หนักมาก ถูกเจาะกินทำลายไปกว่า 100 ลูก เฉลี่ยลูกละประมาณ 3-6 กิโลกรัม ที่สวนขายกิโลกรัมละ 150 บาท คิดเฉลี่ยความเสียหายที่ไม่ได้ขายทุเรียนประมาณ 40,000 บาท ตอนนี้เก็บทุเรียนขายไปแล้วยังไม่ถึง 100 ลูก และทยอยเก็บขายนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในสวนเกือบทุกวัน จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้สุนัขมาวิ่งไล่ และใช้กรงเหล็กดัก มีเหยื่อล่อเป็นผลไม้ไว้ด้านใน
ขณะที่รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอปากท่อ แนะนำว่า กระรอกถือเป็นศัตรูตัวใหม่กับการปลูกทุเรียนที่นี่ ค่อนข้างฉลาด จึงรู้ว่าทุเรียนกินยาก มีหนามแข็ง แต่ก็ยังสามารถเจาะเข้าไปกินเนื้อได้ ปีที่แล้วยังมีไม่มาก ผิดกับปีนี้กระรอกเริ่มฉลาดขึ้น หลังได้ลิ้มรสทุเรียนว่ามีรสชาติดี จึงมากัดกิน
ส่วนแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา แนะนำให้เกษตรกรใช้ตะแกรงเหล็กลักษณะคล้ายตาข่ายเหล็กปีนขึ้นไปล้อมห่อลูกทุเรียนไว้ ห่อหุ้มเป็นลูกๆ ไป และใช้กรงดักอย่างที่ทำอยู่ในสวนตอนนี้ แล้วนำไปปล่อยในป่าลึกไกลๆ เพื่อไม่ให้กระรอกมารบกวนอีก. – สำนักข่าวไทย