สำนักข่าวไทย 25 พ.ค. – คพ.รายงาน คืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลต่อระบบหายใจ ทั้งสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ใช้ในอุตสาหกรรม และสารฟอร์มาลดีไฮด์
กรมควบคุมมลพิษ พร้อมสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 และสำนักงานทรัพยากรกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง และปภ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อเวลา 11.00 น. พบว่า ขณะตรวจสอบควบคุมเพลิงได้แล้วแต่ยังมีเขม่าควันค่อนข้างมาก เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์หลายร้อยใบที่ถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังคงฉีดน้ำเลี้ยงอยู่ และจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในเบื้องต้น พบว่ามีค่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Total VOCs) อยู่ในช่วง1.2-2.4 ppm ค่าสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) อยู่ในช่วง 0.92-1.96 ppm ซึ่งมีค่าเกินกว่าค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน ระดับที่ 1 กำหนดค่า 0.9 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐานเล็กน้อย ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ และระคายเคืองตา ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดกลุ่มควันจำนวนมาก อำเภอศรีราชาได้สั่งการให้อพยพประชาชนที่อยู่ใต้ลมไปยังจุดที่ปลอดภัย และ คพ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วยแล้ว หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป
สาร VOCs ย่อมาจาก Volatile Organic Compounds คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ส่วนใหญ่มักใช้เป็นสารประกอบและสารตัวทำละลายในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นก๊าซไม่มีสี จัดเป็นพิษที่ปนเปื้อนในอากาศที่เป็นปัญหาสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยทั่วไปสารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสี กาว และสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่น ๆ หรือเกิดจากการเผาไหม้.-สำนักข่าวไทย