กรุงเทพฯ 19 เม.ย.- คพ. เฝ้าระวังโกดังลักลอบทิ้งสารเคมี อ. ภาชี ต่อเนื่อง หลังจากเกิดเหตุพบไอกลุ่มควันสีเหลือง คาดถังบรรจุสารเคมีวางทับซ้อนกันหลายชั้น เมื่อเกิดไอระเหยของสารเคมี ทำให้กัดกร่อนถังเหล็ก จนรั่วไหลและเกิดปฏิกิริยา เร่งประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังวหัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ได้ประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจากเหตุเกิดไอระเหยของสารเคมีซึ่งเห็นเป็นกลุ่มควันสีเหลือง โดยจะขอให้ร่วมให้ข้อเสนอแนะด้านวิชาการ ติดตามสถานการณ์และความก้าวหน้าการดำเนินการเป็นระยะ
สำหรับเหตุการณ์ที่โกดังเก็บสารเคมีของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งวานนี้ (18 เมษายน 2567) บริเวณโกดัง 4-5 พบไอกลุ่มควันสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นมาก แต่ไม่มีเปลวไฟความร้อน สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 (นนทบุรี) เข้าติดตามสถานการณ์ โดยสันนิษฐานได้ว่า โกดังที่ 4 มีถังสารเคมีจำพวกกรด-ด่าง ทีอยู่ในถังเบาวส์ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรและถังน้ำมันดำและสารเคมีรวมที่บรรจุในถังเหล็กขนาด 200 ลิตรและถังขนาดเล็กจำนวนมาก วางปะปนซ้อนกันอยู่หลายชั้นโดยไม่มีการแบ่งแยกโซน โครงเหล็กที่พยุงถังพลาสติกเมื่อสัมผัสไอระเหยสารเคมีจะถูกกัดกร่อนผุผังจนไม่สามารถรับน้ำหนัก เกิดการยุบตัวของถัง ทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมาผสมกับสารเคมีจากถังเหล็กที่ถูกกัดกร่อนจนทะลุ ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัด ทำให้สารเคมีเกิดปฏิกิริยาได้โดยง่าย
เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 (นนทบุรี) ให้ข้อเสนอแนะในการระงับเหตุเบื้องต้นได้แก่
1) หากเพลิงลุกไหม้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำดับเพลิงโดยตรง ให้ใช้โฟม หรือถังดับเพลิงแบบเคมี หรือ CO2 แทน
2) ในพื้นที่โกดังที่ 4 ถ้าพบว่า มีกลิ่นไอระเหยสารเคมีในระดับที่รุนแรง ให้เจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากกรองไอระเหยสารเคมีรวมแบบเต็มหน้า และสวมใส่ชุด PPE ขณะเข้าพื้นที่เพื่อระงับเหตุ
3) ให้ใช้ทรายหรือดิน กลบทับสารเคมีที่รั่วไหล เพื่อดูดซับหรือกักกันบริเวณที่รั่วไหลไว้ ไม่ให้กระจายตัวและลุกลามเป็นวงกว้าง และระมัดระวังในการเข้าพื้นที่ เนื่องจากมีถังสารเคมีวางชิดกันและซ้อนกันอยู่หลายชั้นทั่วทั้งพื้นที่โกดังที่ 4
หลังจาเหตุการณ์ได้ยุติช่วงบ่ายวานนี้ โดยกลุ่มไอระเหยสารเคมีได้ลดลง หน่วยงานท้องถิ่นได้ประสานเจ้าหน้าที่บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) ให้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมาซ้ำอีก
ส่วนกรณีเหตุการรั่วไหลของสารแอมโมเนียอย่างรุนแรง โดยมีรัศมีกว่า 1 กิโลเมตร พื้นที่ชุมชนรอบข้าง มีประชาชนเกิดอาการแสบคอ หายใจไม่ออก แสบตา และบาดเจ็บ 141 คน ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณพื้นที่ชุมชนใต้ลม ค่าแอมโมเนีย 0 พีพีเอ็ม ภายในบริเวณโรงงาน สถานที่ผลิตน้ำแข็ง ค่าแอมโมเนีย 3 พีพีเอ็ม (ส่วนต่อล้าน) และใต้อาคารบริเวณพื้นที่เหตุรั่วไหล ค่าแอมโมเนีย 5 – 8 พีพีเอ็ม อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ประกาศ คพ. เรื่องค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 : 30 พีพีเอ็ม (ส่วนต่อล้าน) ระดับที่ 2: 160 พีพีเอ็ม และระดับ 3: 1,100 พีพีเอ็ม) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้แจ้งให้โรงงานหยุดประกอบกิจการ และให้ซ่อมแซมระบบท่ออุปกรณ์ที่รั่วให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 คพ. ได้แนะนำให้ระบายอากาศในพื้นที่อับอากาศออกภายนอก และปิดกั้นน้ำที่จะระบายออกภายนอกซึ่งอาจมีแอมโมเนียผสมอยู่จำนวนมาก จะเป็นเหตุให้ปลาในแหล่งน้ำสาธารณะตาย
กรมควบคุมมลพิษแจ้งถึงข้อควรระวังในการใช้แอมโมเนีย (Ammonia) ในภาคอุตสาหกรรม โดยหากสัมผัสในความเข้มข้นสูงและเป็นเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
แอมโมเนีย (NH3) มีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันปกติ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง มีความเป็นพิษสูง และมีฤทธิกัดกร่อน หากอยู่ภายใต้ความดันและอุณหภูมิต่ำ จะมีสถานะเป็นของเหลว สามารถละลายน้ำและระเหยได้ ติดไฟได้ มีฤทธิ์เป็นด่าง
ทั้งนี้มีการนำแอมโมเนียมาใช้ประโยชน์ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยในภาคการเกษตร ใช้ผลิตปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตและปุ๋ยยูเรีย ส่วนภาคอุตสาหกรรมใช้ผลิตกรดไนตริก (Nitric acid) ชุบแข็งและเคลือบผิวโลหะเพื่อเพิ่มความแข็ง ชุบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ผสมน้ำยาเข้มข้นเพื่อป้องกัน การแข็งตัวและฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมห้องเย็น โรงน้ำแข็ง และห้องแช่แข็ง
แอมโมเนียถูกใช้เป็นสารทำความเย็นในโรงงานน้ำแข็งและห้องเย็น ในรูปของ Ammoniu anhydrous สาเหตุที่มีการใช้กันมากเนื่องจากราคาถูก ขนส่งและใช้งานง่าย ค่าใช้จ่ายในการจัดการถูกว่าสารทำความเย็นชนิดอื่น ไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
การรั่วไหลของแอมโมเนียเกิดจากความบกพร่องและชำรุดของอุปกรณ์เช่น รอยรั่วของท่อส่งก๊าซ วาล์ว หรือเกิดระหว่างการบำรุงรักษาระบบ เนื่องจากแอมโมเนียสามารถรวมตัวกับน้ำและความชื้น เกิดเป็น Ammonium hydroxide ซึ่งมีความเป็นด่างสูง สามารถกัดกร่อนระบบทำให้เกิดรอยรั่ว หรือจากการจัดเก็บภาชนะบรรจุแอมโมเนียไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหล
สำหรับการจัดการเมื่อแอมโมเนียรั่วไหล ต้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการสัมผัสแอมโมเนีย ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อจับไอของแอมโมเนีย มีการตรวจวัดความเข้มข้นของแอมโมเนียทั้งบริเวณที่มีการรั่วไหลและบริเวณรอบข้าง ป้องกันไม่ให้แอมโมเนียในรูปของเหลวหรือน้ำเสียที่เกิดจากการระงับเหตุลงสู่แหล่งน้ำ และมีระบบในการจัดการน้ำเสียที่ปนเปื้อนแอมโมเนีย หลังจากนั้นต้องตรวจสอบระบบที่มีการรั่วไหลของแอมโมเนียเช่น สภาพของท่อส่งก๊าซและวาล์ว พร้อมทั้งแก้ไขและต้องจัดทำแผนการใช้งานและซ่อมบำรุงเครื่องจักร แผนระงับเหตุฉุกเฉิน ระบบการควบคุมและการบำบัดมลพิษ
ผลกระทบต่อสุขภาพจากแอมโมเนีย สามารถเกิดความเป็นพิษเฉียบพลันจากการสูดดมแอมโมเนียในความเข้มข้นสูง จะทำให้เกิดอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การตอบสนองลดลงและไม่รู้สึกตัว เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ การบวมของลิ้นไก่ กล่องเสียง และหลอดลม หายใจติดขัดแน่นหน้าอก และหมดสติ รวมถึงเกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา ตาพร่า และอาจสูญเสียการมองเห็น การสัมผัสแอมโมเนียในสถานะของเหลวโดยตรง ทำให้ผิวหนังถูกกัดจากความเย็น (frostbite injury)
ส่วนระดับความเข้มข้นของแอมโมเนีย (Parts per million: ppm) หรือส่วนต่อล้าน ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย ตามระยะเวลาที่สัมผัสมีดังนี้
– 25 ppm คนส่วนใหญ่เริ่มได้กลิ่น ทนได้มากสุด 8 ชั่วโมง
คนส่วนใหญ่เริ่มได้กลิ่น
– 100 ppm ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย ระคายเคืองเล็กน้อย โดยไม่อนุญาตให้สัมผัสเป็นเวลานาน
– 400 ppm ระคายเคืองจมูกและลำคอ ระยะเวลาที่สัมผัส 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– 700 ppm ระคายเคืองตวงตา ระยะเวลาที่สัมผัส 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– 1,700 ppm เกิดอาการชัก ระคายเคืองตา จมูกแ ละคออย่าง โดยอาจจะเสียชีวิต ถ้าได้รับเกิน 30 นาที
– 2,000 – 5,000 ppm ระคายเคืองคอ ปวดแสบที่ลำคออย่างรุนแรง อาจจะเสียชีวิตเกิน 15 นาที
– 5,000 – 10,000 ppm เกิดการชักกระตุกของกล้ามเนื้อและระบบหายใจ ทำให้ร่างกายขาดออกชิเจนอย่างรวดเร็ว อาจจะเสียชีวิตภายใน 2 -3 นาที
อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลกรณีที่ทำงานในสถานที่ที่ใช้แอมโมเนียได้แก่
– ชุดป้องกันสารเคมีหรือ PPE
– หน้ากากป้องกันสารเคมี
– แว่นตานิรภัย
– ถุงมือป้องกันสารเคมี
– ชุดป้องกันสารเคมี
– เครื่องช่วยหายใจ
– รองเท้าบูท
กรณีที่สัมผัสแอมโนเนีย มีแนวทางการบำบัดและลดพิษขั้นต้น โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังที่โล่ง ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูกระหว่างขนย้าย หากสัมผัสตา ล้างออกด้วยน้ำเปิดน้ำไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออก ถ้าเสื้อผ้าเย็นแข็งติดผิวหนังทำให้อ่อนตัวก่อนถอดออก และล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นอย่างน้อย 15 นาที หากสัมผัสผิวหนัง ล้างออกด้วยน้ำสบู่ ถ้าเกิดแผลใหญ่เนื่องจากความเย็น ห้ามถูหรือราดน้ำบริเวณนั้น แล้วให้รีบนำส่งแพทย์ทันที. -512 – สำนักข่าวไทย