กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – ส.อ.ท.แนะรัฐบาลดูแลไม่ให้การย้ายฐานผลิตเข้ามาของนักลงทุนจีน เพื่อหวังสวมสิทธิ์ส่งออกมีมากเกินไป ทำให้สหรัฐอาจกีดกันสินค้าไทย พร้อมแนะรัฐตั้งวอร์รูมติดตามผลกระทบสงครามการค้า
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตือนให้ภาครัฐระมัดระวังดูแลไม่ให้การย้ายฐานการผลิตของจีนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าส่งออกไปขายสหรัฐต้องมีไม่มากจนเกินไป เพราะสหรัฐอาจพิจารณาตอบโต้ทางการค้ากับไทยได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยส่งสินค้าไปขายสหรัฐมากกว่านำเข้า ไทยจึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐและมากเป็นอันดับที่ 11-12 อยู่แล้ว
“ขณะนี้ไทยต้องการต่างประเทศเข้ามาลงทุนผ่านการเชิญชวนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่ให้เข้ามาในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้นักลงทุนหลาย ประเทศรอความชัดเจนการเมืองไทย แต่ไม่ใช่นักลงทุนจีน เพราะเข้าใจประเทศไทย ต่างเร่งเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตส่งออก ซึ่งการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเศรษฐกิจภาคการลงทุนดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องสมดุลของการเข้ามาลงทุนด้วย” นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ผลการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ล่าเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐตั้ง “วอร์รูมภาครัฐและเอกชน” ที่มีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือด้วย เพื่อติดตามประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง ส.อ.ท.มีกลุ่มอุตสาหกรรมมากถึง 45 กลุ่ม ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศใหม่ทั้งระบบให้เป็นเชิงรุกและเจาะรายประเทศมากขึ้น และเมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ภาคเอกชนต้องการให้เปิดตลาดการค้าเพิ่มขึ้น โดยขอให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ไทยแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่ขณะนี้ได้เปรียบทางการค้า เพราะอยู่ในกลุ่ม CPTPP หรือข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกกับสหรัฐและยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหภาพยุโรปด้วย
สำหรับผลกระทบสงครามการค้ากับไทย คือ ส่งออกไทยปีนี้ที่สำนักพยากรณ์ต่าง ๆ คาดว่าจะโตร้อยละ 3-5 ขณะนี้ยอมรับว่าจะอยู่ประมาณร้อยละ 0-1 เท่านั้น ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.จะพิจารณาปรับคาดการณ์ส่งออกและจีดีพีประเทศตามสภาพข้อเท็จจริง สำหรับส่งออกที่ลดลง ผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงล่าสุดเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น และตลอดปีนี้ประเมินเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเหลือเพียงร้อยละ 3.4-3.5 หากสถานการณ์สงครามการค้าบานปลายมากกว่านี้ เช่น สหรัฐประกาศตอบโต้ทางการค้าจีนเพิ่มอีก 320,000 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมสินค้าทุกรายการที่จีนส่งไปขายสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดปีนี้
ทั้งนี้ บริษัท ARM ของอังกฤษผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ซอฟแบงก์ญี่ปุ่นประกาศว่าจะไม่ออกแบบและผลิตชิพที่ทันสมัยให้กับหัวเว่ยเท่ากับการพัฒนาที่พึ่งพาคนอื่นชะงัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังปรับตัวทั่วโลก สงครามการค้าทำให้บรรยากาศทางการค้าลดลง ประเทศไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตก็ได้รับผลกระทบแน่นอน.-สำนักข่าวไทย