กรมสุขภาพจิต 23 พ.ค.- กรมสุขภาพจิต แนะ 4 วิธีดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท ‘ญาติใกล้-ได้ยา-มาตามนัด-ขจัดยาเสพติด’ ให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 24 พ.ค.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันโรคจิตเภทโลก (World Schizophrenia day) โดยได้รับรายงานจาก รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ว่า ในประเทศไทยโรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตเวชที่ถึงแม้จะพบไม่มาก แต่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านจิตเวชและสาธารณสุข ซึ่งจะพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 600,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน พบในผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน ในปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการแล้ว 480,000 คน โดยลักษณะอาการสำคัญของผู้ป่วยโรคจิตเภทที่สามารถสังเกตได้ คือหลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่รู้เรื่องและมีพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม ซึ่งสามารถรักษาได้ หากพบแพทย์เร็วและได้รับการดูแลฟื้นฟูที่เหมาะสม
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อไปว่า รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงยุ่งยากซับซ้อนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งยังเป็นศูนย์เชี่ยวชาญต้นแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) อีกด้วย ซึ่ง รพ.ได้น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยจัดทำโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตร เป็นโครงการเกษตรบำบัด การทำแปลงผักสวนครัวแบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมี สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการดีขึ้นบ้างแล้ว สามารถควบคุมตนเองได้ร่วมกับโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพให้กับผู้ป่วยในรูปแบบอื่นๆ ดำเนินการภายใต้การดูแลของทีมสหวิชาชีพ เพื่อพัฒนาผู้ป่วยให้มีทักษะทางสังคมและอาชีพการงาน เป็นการสร้างโอกาส และเตรียมความพร้อมกลับสู่ครอบครัวและชุมชนได้ โดยมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการภายหลังการฟื้นฟูตามกระบวนการนี้ ผู้ป่วยที่อาการทุเลาสามารถกลับสู่ชุมชนเพื่อประกอบอาชีพเองได้เป็นจำนวนมาก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ใช้ 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้
1.ญาติใกล้ มีญาติคอยดูแล ใช้ครอบครัวบำบัด พร้อมพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกแก่กันได้ และสังเกตอาการเตือนของผู้ป่วยก่อนนำเข้าพบแพทย์
2.ได้ยา การให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง
3.มาตามนัด ให้ผู้ป่วยมารักษาอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดนัด
4.ขจัดยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด แม้ว่าธรรมชาติของโรคจิตเภทส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรัง แต่หากสามารถดูแลให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่มีอาการกำเริบ มีโอกาสหายสูง รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย .-สำนักข่าวไทย