สธ.18 พ.ค.-กรมควบคุมโรค พบประชาชนทั่วไปเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงถึงร้อยละ74 หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ห่วงกลุ่มพระสงฆ์สามเณร พบอาพาธมารักษาที่ รพ.สงฆ์ ด้วย 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกือบ 3 หมื่นรูปทั้งไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม สาเหตุหนึ่งจากการฉัน แนะประชาชนร่วมถวายภัตตาหารถูกหลักสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้คร่าชีวิตประชาชนไทยถึงร้อยละ74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 400,000 คนต่อปี ข้อมูลการเสียชีวิตจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2556-2560 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนี้ โรคหลอดเลือดสมอง จาก 23,222 ราย เพิ่มเป็น 31,172 ราย , โรคหัวใจขาดเลือด จาก 17,394 ราย เพิ่มเป็น 20,746 ราย , โรคเบาหวาน จาก 9,703 ราย เพิ่มเป็น 14,322 ราย และโรคความดันโลหิตสูง จาก 5,186 ราย เพิ่มเป็น 8,525 ราย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว พระสงฆ์และสามเณรเป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีพระสงฆ์และสามเณร 358,167 รูป ในจำนวนนี้ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ เพียง 122,680 รูปหรือร้อยละ 34 เท่านั้น ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีพระสงฆ์และสามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 รูป , โรคความดันโลหิตสูง 8,520 รูป ,โรคเบาหวาน 6,320 รูป โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 รูป และข้อเข่าเสื่อม 2,600 รูป
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาสุขภาพดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการฉันอาหารที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถประกอบอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารจากการถวายและรับบิณฑบาตเท่านั้น ทำให้พระสงฆ์และสามเณรไม่มีทางเลือกในการฉันอาหาร ประกอบกับการที่พระสงฆ์และสามเณรมีการเคลื่อนไหวอิริยาบถ อย่างจำกัด จึงทำให้พระสงฆ์และสามเณรมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
อีกทั้งพระสงฆ์และสามเณร ควรมีความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการ เพื่อพิจารณาฉันอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นอาหารให้ครบ5 หมู่ ปลา เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง ลดอาหารหวานมันเค็ม งดเว้นสิ่งเสพติดทุกชนิด น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงควรเพิ่มการเคลื่อนไหวอิริยาบถให้มากขึ้น เช่น การเดินจงกรม การกวาดลานวัด และการบริหารร่างกายด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ฆราวาสหรือประชาชนควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดอาหารเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณร เอาใจใส่คุณภาพอาหารที่นำมาใส่บาตรถวายพระสงฆ์และสามเณร ควรเน้นอาหารสุขภาพประเภทต้ม อบ นึ่ง ลดการถวายอาหารหวาน มัน เค็ม ใส่บาตรพระสงฆ์และสามเณรในปริมาณที่พอดีไม่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพระสงฆ์และสามเณร นอกจากได้บุญแล้วยังถือเป็นการร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย