กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-นักวิจัย ชี้ปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ไม่ดีพอ ส่งผลให้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสถึง 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่อดีตนายกฯ ‘อานันท์’ ชี้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพื้นฐานการศึกษาที่มีคุณภาพ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย หัวข้อ “โอกาสที่หายไป: ข้อเท็จจริงปัญหาการศึกษาไทย” ในงานเสวนา นวัตกรรมความคิดใหม่สู่สังคมไทย”thailand strategic giving” ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น เพื่อสร้างการเปลี่ยนเเปลงให้สังคมพัฒนาขึ้น โดยได้นำเสนอประเด็นค่าเสียโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย ว่า จากการวิจัยเมื่อมองในภาพรวม ปัญหาการศึกษาเริ่มจากช่วงวัยเเร กคือเด็กปฐมวัย พบ 1 ใน 4 ของเด็กทั้งหมดมีพัฒนาการต่ำกว่าวัย , เด็กระดับปฐมศึกษากว่า 200,000 คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ,ระดับมัธยมศึกษาพบเด็กจำนวนมากอ่านหนังสือออกเเต่จับใจความไม่ได้ ซึ่งวัดผลจากการทดสอบ PISA คะเเนนที่ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ 50 โรงเรียนกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ ถึง 34 โรงเรียน ทำให้เด็กกรุงเทพฯต่อร้อยละ 80 ต่างจากเด็กต่างจังหวัดที่เรียนต่อร้อยละ 20
ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษา เด็กมีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยอย่างจำกัด 2 ใน 3 ของครัวเรือนไทย ไม่มีเงินออมพอที่จะส่งลูกเรียนต่อ เมื่อคำนวณค่าใช้จ่าย 4 ปีมีถึง 500,000 บาท หากกู้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้เต็มที่ที่สุดคือ 170,000 บาท ทำให้ต้องมีเงินออมประมาณ 300,000 บาท
เมื่อจบการศึกษาพบว่าร้อยละ 40 ทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ ไม่ตรงกับวิชาชีพที่เรียนมา ภาคเอกชนต้องใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์ถึงจะหาคนที่เหมาะสมกับงานได้ เเละภาครัฐทุ่มงบเพื่อใช้ในการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ภายในช่วง10ปีที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ส่งผลต่อประเทศเเละเศรษฐกิจโดยรวม เพราะปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 ไม่สำเร็จ ได้ผลไม่เต็มที่ ทำให้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสถึง 1.5 ล้านล้านบาท
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับโปเเลนด์หลังปฏิรูปการศึกษา พบว่ามีคะเเนน PISA เพิ่มขึ้น 48 คะเเนนภายใน 10 ปี เเต่ไทยเพิ่มขึ้นเพียง 3 คะเเนน หากไทยมีการปฏิรูปได้ผล จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 0.14 ตนมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการจัดการของหน่วยงานด้านการศึกษาไม่ดีพอ ทำให้เเก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วนต้องปรับปรุงหลักสูตรเเละคุณภาพของครู
ทั้งนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของการบริจาคเพื่อสร้างการเปลี่ยนเเปลงในสังคมไทย” ว่า สังคมไทยจะเปลี่ยนเเปลงได้ต้องมาจากพื้นฐานการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมามีผู้สนับสนุนเเละบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาจำนวนมาก เเต่ยังไม่มีระบบที่จะใช้เงินเพื่อทำประโยชน์อย่างยั่งยืนเเก่ผู้รับ จึงอยากให้ปรับเปลี่ยน เเละในส่วนการปฏิรูปการศึกษา ให้ปรับปรุงหลักสูตรเเละคุณภาพของครู ให้ครูสอนเด็กให้น้อยลง 30-40 นาทีต่อคาบเรียน เวลาที่เหลือให้ตั้งปัญหาถามนักเรียนเเละอย่ามองหาคำตอบที่ถูกต้อง เ เต่ต้องถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด มีโอกาสเเสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรลงทุนเเละสนับสนุนงานวิจัย เพื่อการพัฒนาให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเน้นลงทุนด้านโครงสร้างของหน่วยงานเป็นอย่างเดียว .-สำนักข่าวไทย