กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – กฟผ.คาดพีคไฟฟ้าเกิดอีก อากาศยังร้อนจัด พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 51 ปรับตัวและระบบผลิตรองรับพลังงานทดแทน
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากที่ภาวะอากาศร้อน ทำให้คาดว่าจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak ) หรือพีคของระบบ กฟผ. จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 500 เมกะวัตต์ จากที่ล่าสุดพีคเกิดขึ้นวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ 30,120 เมกะวัตต์ โดยพีคระยะหลังปรับเปลี่ยนจากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืน สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)เข้าระบบมากขึ้นทำความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดน้อยลง เรียกได้ว่าเป็นการตัดพีคในช่วงกลางวัน ขณะที่อากาศร้อนมากขึ้นการใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงกลางคืนก็เพิ่มขึ้นด้วย จนเป็นสาเหตุที่ทำให้บิลค่าไฟฟ้าในช่วง 1-2 เดือนนี้ของประชาชนพุ่งสูงขึ้น
ส่วนภัยแล้งทำให้เขื่อนในภาคอีสานโดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์และสิรินธรอยู่ในภาวะวิกฤติบางช่วงเวลาเขื่อนไม่ได้ปล่อยน้ำ ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยน้ำน้อยจะไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด เพราะสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในไทยมีสัดส่วนต่ำมาก
สำหรับปีงบประมาณ 2562 กฟผ.มีแผนลงทุน 50,000 ล้านบาท โดยมีการเร่งเบิกจ่ายให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยงบฯ มีทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกง /พระนครใต้ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าวังน้อยหน่วยที่ 4 ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant ) เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่จะสามารถเร่งการผลิตเครื่องได้อย่างรวดเร็ว การลดระยะเวลาซ่อมบำรุง โดยโครงการความยืดหยุ่นโรงไฟฟ้าวังน้อยจะเปิดให้เอกชนยื่นรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ลงทุนประมาณ 164 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จปี 2563 ที่จะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี จากนั้นจะมีการขยายการดำเนินงานสู่โรงไฟฟ้าอื่นต่อไป
ทั้งนี้ กฟผ.จะครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 50 ปีวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และได้จัดงานภายใต้แนวคิด 50 ปี กฟผ. เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย ว่า กฟผ.ได้สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศจากปี 2512 ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 907 เมกะวัตต์ จนปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 54,816 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้า กฟผ.14,566 เมกะวัตต์ คิดเป็น 27% ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ มีสายส่งไฟฟ้าความยาว 35,088 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 228 สถานี และก้าวต่อไปของ กฟผ.พร้อมที่จะมุ่งมั่นให้เป็นองค์กรนวัตกรรมด้วยการพัฒนาโรงไฟฟ้าสู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์ประมวลผล โดยเริ่มนำร่องที่ไฟฟ้าพระนครเหนือและจะนะ ซึ่งจะเป็นการสั่งการผ่านระบบดิจิทัล มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ กฟภ. และ กฟน.จัดทำ National Energy Trading Platform (NETP) เพื่อรวบรวมข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่ง กฟผ.จะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศ
ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ.มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity) พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยระยะแรกมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคีและมัลติ (Multilateral Power Trade) เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย จะมีการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM) จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ และจะขยายผลไป 4 ประเทศในอนาคต (LTMS) พร้อมทั้งมีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก เชื่อมสายส่งระหว่าง สปป.ลาว ไทย เมียนมา เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย