กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – กระทรวงพาณิชย์เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปาล์มที่มีปัญหาราคาตกต่ำในขณะนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะการณ์น้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากการที่สหภาพยุโรปออกมาตรการยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศอินเดีย จึงส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกและสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการทบทวนตัวเลขผลพยากรณ์การผลิต ในปี 2562 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ต้นปาล์มมีทะลายปาล์มสุกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีสภาพการสุกไม่สมบูรณ์ คือด้านนอกสุกแต่ด้านในไม่สุก ส่งผลต่อปริมาณที่ออกมากขึ้นและคุณภาพของผลปาล์มที่ลดลง
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพการออกผลผลิตของต้นปาล์มในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วพบว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดดังกล่าว ส่งผลให้ผลปาล์มสุกเร็วขึ้น เกษตรกรจึงได้ตัดปาล์มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ จากเดิมที่เคยตัดได้ต้นละ 3 ทะลายเป็น ต้นละ 5 – 6 ทะลาย ทำให้โรงงานสกัดฯ มีรถเข้าคิวที่หน้าโรงงานสกัดฯ จำนวนมาก ส่งผลให้ราคาผลปาล์มลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะพื้นที่และปริมาณที่โรงงานสกัดฯ แต่ละโรงมีจำนวนจำกัด
จากการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มของคณะทำงานระดับจังหวัดสัปดาห์ที่แล้ว สต็อกคงเหลือน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของ 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร และนครศรีธรรมราช มีปริมาณลดลงจากเดือนเมษายน 2562 เฉลี่ยประมาณ 10% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือตรวจสต็อกโรงงานสกัดฯ ทั่วประเทศในต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ต่อไป
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม โดยในระยะสั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผลผลิตออกเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ จะขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาดูดซับผลผลิตในสต็อกจำนวน 200,000 ตัน โดยจะดึงออกไปก่อนในเบื้องต้น ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 100,000 ตัน และพร้อมที่จะดูดซับเพิ่มเติมอีก 100,000 ตันหากสถานการณ์ผลผลิตปาล์มยังเพิ่มขึ้น รวมทั้ง จะหารือผู้ประกอบการใน supply chain ทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาในระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องอย่างฉับพลัน แต่อย่างน้อยปัญหาจะต้องบรรเทา และจะยกระดับขีดความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบน้ำมันปาล์มให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป โดยจะนำผลการหารือดังกล่าวกำหนดเป็นแนวทางดำเนินการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาในการประชุมวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ต่อไป . – สำนักข่าวไทย