กทม. 27 เม.ย. – ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีสถานที่สำคัญ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธี คือ หมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีพระที่นั่งที่สำคัญประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ในหมู่อาคาร ยังมีการออกแบบสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมภายในพระที่นั่งที่สวยงามและสื่อความหมายเกี่ยวเนื่องกับความเป็นพระมหาจักรพรรดิราช
ภาพอาคารสถาปัตยกรรมของหมู่พระมหามณเฑียร สถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ปรากฏในการบันทึกของนักประวัติศาตร์ที่ศึกษาจากข้อมูลหลายแหล่ง ประมวลเกร็ดความรู้ผ่านหนังสือเสวยราชสมบัติกษัตรา
หมู่พระมหามณเฑียร ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง คือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่ว สร้างเชื่อมพระที่นั่งประธานสามหลัง ประกอบด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ และเสด็จออกว่าราชการ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งทั้งสามองค์ เดิมเรียกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามแยกเป็นองค์ๆ ให้คล้องจองกัน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
นักประวัติศาสตร์อธิบายด้วยว่า ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประดับภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จำลองสรวงสวรรค์ เช่น ภาพเล่าเรื่องประวัติและสวรรค์ของพระอินทร์ ภาพวาดเทพเจ้าในศาสนาพรามณ์ และภาพเทวดา พระที่นั่งองค์นี้เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ภายในประดิษฐานพระที่นั่งที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สร้างจากไม้มะเดื่อ ลักษณะ 8 เหลี่ยม เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษกทั้ง 8 ทิศ อีกด้านหนึ่งประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ส่วนบริเวณตอนกลางของพระที่นั่ง ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ซึ่งในส่วนของพระราชพิธีเบื้องปลาย ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ใช้เป็นสถานที่ในการเสด็จออกมหาสมาคม และมีการประกอบพระราชพิธีต่อเนื่อง คือ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จออกมหาสมาคม และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญสูงสุดตามโบราณราชประเพณี พสกนิกรทั่วประเทศสามารถชมพระบารมีและร่วมถวายพระพรชัยมงคล .- สำนักข่าวไทย