วสท 25 เม.ย.-วสท.ชี้เหตุไฟไหม้ห้างกลางเมืองเกิดจากความประมาทในการดูแลระบบท่อ พร้อมเสนอขอให้วัดโบราณสถานทั่วไทยติดตั้งระบบป้องกันไฟไหม้
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) จัดเวทีแถลงเสวนา เรื่อง “ถอดบทเรียนไฟไหม้ จากศูนย์การค้า…ถึงมหาวิหารนอเทรอ-ดาม” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ผังเมือง อาคารสูงและระบบป้องกันอัคคีภัย ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายประเด็น
นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)และวิศวกรป้องกันอัคคีภัย กล่าวว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ศูนย์การค้าครั้งนี้นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับวิศวกร และสถาปนิกตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้างและนักดับเพลิงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหตุเพลิงไหม้และควันไฟในกรณีนี้ “ไม่ได้ลุกลามแบบตรงไปตรงมา” เหมือนที่เคยเห็นกันบ่อยๆ เพราะไฟที่ลุกไหม้ ไฟไม่ได้พุ่งตรงตามเส้นทาง เป็นการไหลไปตามท่อจากB2 ก่อนพุ่งลามไปยังชั้น 8 จนนักดับเพลิงตั้งตัวไม่ทันจริงทำให้เกิดการสูญเสียตามมา
นายพิชญะ กล่าวต่อไปว่า แม้ขณะนี้ผลการพิสูจน์หลัก ฐานจากตำรวจยังไม่มีข้อสรุปว่าต้นตอของประกายไฟหรือแหล่งความร้อนมาจากที่ใด แต่สามารถยืนยันได้ว่า การเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ ที่สภาพภายในอาคารมีทั้งเปลวไฟควันและความร้อนนั้นเป็นผลจากเปลวไฟ ลักษณะการลุกไหม้เป็นการลุกไหม้ภายในท่อลมจากชั้น B2 และต่อเนื่องลุกลามออกมา แต่ยังอยู่ภายในปล่องแนวตั้งที่ก่อสร้างปิดล้อมด้วยการก่ออิฐต่อเนื่องจากชั้น B1 ไปถึงชั้น 8 ซึ่งปลายปล่องที่ชั้น B1 ไม่ได้มีการปิดปลาย ของปล่องไว้ตามมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน และบริเวณจุดต้นเพลิงชั้น B2 ไม่มีหัวสปริงเกอร์ที่ใช้ในการควบคุมการลุกลามของเพลิงไหม้ จึงทำให้เพลิงได้ขยายตัวออกจากจุดต้นเพลิงได้ ประกอบกับบริเวณจุดต้นเพลิงมีระบบท่อระบายอากาศเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเรซิ่นที่สามารถติดไฟได้
‘การออกแบบระบบท่อสำหรับอาคารขนาดใหญ่ที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 1. ระบบระบายอากาศและท่อระบายอากาศเสีย ต้องใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟ หรือวัสดุที่ติดไฟยากและมีพลังงานความร้อนคายออกมาต่ำเมื่อเกิดไฟแล้ว 2.ช่องท่อ สำหรับงานท่อลม ต้องติดตั้ง Fire Damper หรืออุปกรณ์ป้องกันการลามไฟในท่อเมือเกิดไฟไหม้ เมื่อท่อลมต้องต่อออกจากช่องท่อหรือหุ้มท่อลมให้ต่อเนื่องจนถึงภายนอกอาคาร 3.ช่องท่อ สำหรับท่อลม ควรเป็นแนวตั้งตรงจนถึงบนดาดฟ้า ไม่ควรเลี้ยวหลบไปมา4.ปลายช่องท่อ ทั้งส่วนบนสุดและล่างสุดอยู่ภายในอาคาร ต้องปิดปลายให้ดีด้วย’ นายพิชญะ กล่าว
ส่วนเหตุไฟไหม้ที่มหาวิหารนอเทรอ-ดาม ที่มีชื่อเสียงและอายุเก่าแก่850 ปี นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เชื่อมโยมมาถึงระบบการป้องกันไฟไหม้ มาตรฐานดูแลโบราณสถานของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมที่มีโครงสร้างและตกแต่งด้วยไม้เช่นเดียวกันกับมหาวิหารที่ฝรั่งเศส ซึ่งโบราณสถานของไทยเกือบทั้งหมด ต้องยอมรับว่ายังขาดระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้และระบบดับเพลิงที่เหมาะสม ที่ผ่านมา วสท.ได้พยายามเข้าไปพูดคุยทำตวามเข้าใจถึงความสำคัญแต่ถูกทักท้วงเรื่องความสวยงามที่อาจถูกลดทอน บดบังทัศนนียภาพภายใน จึงถูกตีตกในประเด็นนี้ แต่หลัง จากเกิดเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสทำให้ต้องหันมาตระหนักในเรื่องนี้อืกครั้ง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลโบราณสถานและมรดกชาติ ควรหันมาทำแผนและวางระบบป้องกันด้านมาตรฐานระบบดับเพลิงที่มีประสิทธิ ภาพ ให้ความรู้แก่ผู้มีหน้าที่ดูแล เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ทำแผนรองรับเหตุฉุกเฉินและซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ โดย วสท.พร้อมเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาระบบป้องกันที่กล่กลืนกับสถานที่อย่างเต็มที่
สำหรับเหตุอัคคีภัยยังเป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากสถิติ
ปี 2558 มีเหตุเพลิงไหม้ขึ้น 646 ครั้ง
ปี 2559 เหตุเพลิงไหม้ 681 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย ผู้บาดเจ็บ 135 ราย
ปี 2560 เกิดเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 783 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ผู้บาดเจ็บ 117 ราย ปี 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ 292 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 93 ราย เสียชีวิต 15 ราย
และในปี 2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว 88 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ขณะที่ปัจจุบันอาคารสูงกว่า 23 เมตร ก่อสร้างก่อนออก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 มีมากกว่า 1,000 แห่งมีตั้งแต่ 8 ชั้นหรือ 23 เมตร จนถึง 33 ชั้น หรือประมาณ 80 เมตร ที่ยื่นขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งไม่อยู่ในข่ายต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่สมบูรณ์ เหมือนอาคารใหม่ที่ก่อสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 เช่น บันไดหนีไฟ ผนังกันไฟ สปริงเกอร์ เครื่องสูบน้ำและสายฉีดดับเพลิง แต่กฎหมายยังมีข้อกำหนดให้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และอาคารอื่นๆที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารและส่งให้กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี.-สำนักข่าวไทย