ก.คลัง 19 เม.ย. – คลังยืนยันไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรมสรรพากรแนะผู้ฝากเงินยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับเดิมได้ยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ยอมรับว่าแบงก์ขนาดเล็กส่วนใหญ่มักแนะนำลูกค้าให้ปิดบัญชีหากผลตอบแทนดอกเบี้ยเกือบถึง 20,000 บาท เพื่อเปิดบัญชีใหม่หวังช่วยเหลือดูแลและยังถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีลูกค้า การออกกฎหมายฉบับใหม่ได้หารือกันมา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินปรับตัว ขณะนี้พบว่าแบงก์รัฐและ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ได้ปรับตัวรองรับนโยบายรัฐหมดแล้ว เหลือเพียงแบงก์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรและแนะนำลูกค้าให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง จึงยืนยันว่าดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เพื่อให้การเสียภาษีผลตอบแทนดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม เพราะมีหลายคนแตกบัญชีย่อยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จากการแนะนำของสถาบันการเงิน แต่ยอมรับว่าการฝากเงินได้ผลตอบแทน 20,000 บาทต่อปี ต้องมียอดเงินฝากถึง 4 ล้านบาท และกฎหมายเก็บภาษีจากเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ 15% ผ่านการหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรและเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ 99% ของประชากร มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อบัญชี จึงเห็นว่ารายย่อยได้รับผลกระทบน้อยมาก
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แม้จะเป็นธนาคารเดียวกัน แต่เปิดบัญชีสาขาภาคเหนือและภาคใต้ยังเชื่อมโยงข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนในแบงก์เดียวกัน เพราะหากข้อมูลครบถ้วนเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บุคคลเดียวกัน แม้หลายบัญชี หากผลตอบแทนดอกเบี้ยรวมกันถึง 20,000 บาท ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร จึงแนะนำให้ธนาคารแนะนำลูกค้าเดิมหาแนวทางติดต่อกับแบงก์ เพื่อลงนามยินยอมส่งข้อมูลทางการเงินให้กับกรมสรรพากร เพื่อให้กรมสรรพากรคำนวณจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะฝากเงินกับแบงก์ใดผ่านบัญชีออมทรัพย์ หากมีดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต้องถูกคำนวณภาษีเงินได้ ปัจจุบันคาดว่ามีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ผลตอบแทนดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ประมาณ 100 ล้านบัญชี
คาดว่าสถาบันการเงินคงมีช่องทางติดต่อกับลูกค้า เพื่อให้เซ็นหนังสือยินยอมให้ส่งข้อมูลทางการเงินส่งให้กับกรมสรรพากร เพราะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลดูแลลูกค้า จึงต้องการให้ส่งข้อมูลกับกรมสรรพากรก่อนการจ่ายดอกเบี้ยครึ่งปีในเดือนพฤษภาคมและเดือนพฤศจิกายน เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมของทุกปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประกาศกรมสรรพากร ได้ระบุว่า การคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากครึ่งปีแรกต้องส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปีให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 20 พฤษภาคม และ 20 พฤศจิกายนของทุกปี
สำหรับการคำนวณภาษีจากผลตอบแทนดอกเบี้ยที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ การนำดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษี ระบุ ชื่อบัญชีเงิน และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต้องยินยอมให้ทุกธนาคาร เป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนให้กับกรมสรรพากร และเก็บหลักฐานการยินยอมไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ โดยธนาคารมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หากธนาคารไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งธนาคารคารต้องเสียค่าปรับพร้อมกับเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562
ด้านรายงานข่าวจากสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมจะมีการหารือกันในสัปดาห์หน้าถึงประกาศของกรมสรรพากรดังกล่าว โดยจะต้องมีการออกแบบฟอร์มของสมาคม เพื่อให้ลูกค้ามาลงนามให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากรกับทุกธนาคารที่มีบัญชีเงินฝาก ซึ่งสมาคมธนาคารไทยพยายามจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าลงนามยินยอมที่ธนาคารเพียงแห่งเดียว และ ลิงค์ข้อมูลถึงทุกธนาคาร แต่ต้องใช้เวลาในการวางระบบดังกล่าวอีกระยะหยึ่ง เพราะเบื้องต้นธนาคารต้องมีการปรับปรุงระบบการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากของแต่ละธนาคารใหม่ จากเดิมหากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษีร้อยละ 15 ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาชิกต้องหารือกันทั้งหมด
.- สำนักข่าวไทย