กรมสุขภาพจิต 14เม.ย..-จิตแพทย์ ห่วงครอบครัวป้ายแดง ย้ำเตือน อย่าใช้“ความเงียบ”แก้ปัญหา ชี้ ยิ่งทำให้ความกดดันสะสม พร้อมระเบิด แนะ ให้ซื่อสัตย์ไว้วางใจกัน ไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว ซึ่งครอบครัวนั้นเป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพประชากรไทยในอนาคต ซึ่งขณะนี้แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลงเรื่อยๆ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 มีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยนาทีละ 1.2 คน ลดลงกว่าปี 2556 ที่เกิดเฉลี่ยนาทีละ 1.4 คน และข้อมูลของกรมการปกครอง ล่าสุดในปี 2560 มีผู้จดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ 297,501 คู่ เฉลี่ยวันละ 815 คู่ โดย 3 จังหวัดที่มีสถิติการจดทะเบียนสมรสมากที่สุดในประเทศ อันดับ 1 คือกทม. 45,577 คู่ รองลงมาคือชลบุรี 15,795 คู่ และนครราชสีมา 10,741 คู่
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้คน 2 คนที่มาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดูกันมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยืนยาวได้นั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เรียนรู้ ยอมรับซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตคู่ วิธีการที่จะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น ไม่มีความขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ มีคำแนะนำให้คู่สมรสใหม่ยึดหลักการครองเรือน คือ 1. ช่วยกันแบ่งเบาภาระในบ้าน ให้รู้หน้าที่ตนเอง 2. บริหารจัดสรรการเงินแต่ละส่วน เช่น เงินออม เงินใช้จ่ายรายวัน /ยามฉุกเฉิน และกำหนดคนรับผิดชอบ 3. ใส่ใจให้เวลากับครอบครัวดูแลซึ่งกันและกัน 4. ช่วยกันแก้ปัญหา และ5. ห้ามทำร้ายร่างกายกันยามโกรธหรือทะเลาะกันโดยเด็ดขาด
และการส่งเสริมให้ความรักมีความหวานชื่นและมั่นคง คือให้ชื่นชมเมื่อทำดี / ใช้คำขอบคุณและขอโทษให้เป็นนิสัย / ทำบ้านให้รื่นรมย์ /ซื่อสัตย์และไว้วางใจกัน ให้เกียรติและไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน ไม่ควรคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องรู้ใจเราเสมอไป /คิดว่าครอบครัวของเขาคือครอบครัวของเราด้วย และ เปิดใจรับฟังกัน ยอมรับความเห็นต่าง
“ เมื่อมีปัญหาครอบครัว วิธีการแก้ที่ไม่ควรนำมาใช้อย่างยิ่ง คือความเงียบ ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าได้ผลดี แต่ข้อเท็จจริงนั้น วิธีการนี้เปรียบเสมือนเป็นการหนีปัญหา เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ยิ่งจะทำให้ปัญหาเกิดการสะสม เสมือนหมกปัญหาไว้ มีความเก็บกดและกดดันในใจมากขึ้น อาจระเบิดได้ตลอดเวลา ”นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นอกจากนี้เรื่องใกล้ตัวที่สุดที่ทุกครอบครัวควรให้ความใส่ใจก็คือการสื่อสารพูดคุยกัน ไม่ควรใช้ถ้อยคำในลักษณะท้าทายกันด้วยอารมณ์หรือทิฐิ เช่น ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย, พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปดีกว่า เป็นต้น รวมทั้งการพูดเชิงดูถูกเหยียดหยามพ่อแม่ญาติพี่น้องอีกฝ่าย-สำนักข่าวไทย